- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 01 May 2017 08:46
- Hits: 3307
PTT เร่งเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว พร้อมเข้าลงทุนแหล่งผลิต-แปลงสภาพก๊าซ หลังมองตลาดเอื้อ
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) ระบุว่า ปตท.เร่งเจรจาทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะกลางถึงยาวให้ได้ในระดับราว 70% จากปีนี้ที่คาดว่าจะนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาวราว 60% ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าจากตลาดจร (spot) หลังมองตลาด LNG ยังเป็นตลาดของผู้ซื้อในช่วง 5 ปีนี้
ขณะเดียวกัน ก็จะเจรจาเพื่อขอเข้าร่วมลงทุนในแหล่ง LNG และร่วมทุนโครงการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติให้มีสถานะเป็นของเหลว (Liquefaction) ด้วย ซึ่งปัจจุบันเจรจาอยู่กับหลายราย รวมถึงกลุ่มเชลล์ และบีพี โดย บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ ปตท. มีเงินสดในมือรวมกันสูงถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีศักยภาพที่จะรองรับการลงทุนดังกล่าวได้
"demand ของไทยโตเร็ว ปัจจุบันตลาดทุกที่จะเป็น contract 70% และ spot 30% เป็นตัวเลขที่มีความสบายใจ ในระยะยาวของเราก็จะอยู่ประมาณนี้ ซึ่งเป็นระดับที่สร้างความมั่นคง และมี spot เพื่อบริหารจัดการสร้างความยืดหยุ่น ตลาดปัจจุบันยังเป็นตลาดของผู้ซื้อ เพราะ supply LNG เยอะอยู่ ขณะที่ demand ค่อย ๆ ขึ้น ตลาดผู้ซื้อน่าจะยังอยู่ต่ออีก 5 ปี และจะเริ่ม tight"นายวิรัตน์ กล่าว
นายวิรัตน์ คาดว่า ปีนี้ไทยจะนำเข้า LNG ราว 5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากระดับ 3 ล้านตันในปีที่แล้ว โดยประมาณ 60% มาจากสัญญาระยะยาวที่ปัจจุบันมีอยู่กับการ์ต้า จำนวน 2 ล้านตัน/ปี ,เชลล์ และบีพี รายละ 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะเริ่มนำเข้าตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ ส่วนที่เหลืออีก 40% จะมาจากตลาด spot ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการใกล้จะทำสัญญาระยะยาวซื้อขาย LNG กับปิโตรนาส ของมาเลเซีย อีกราว 1.2 ล้านตัน/ปีด้วย และอยู่ระหว่างหาสัญญาซื้อขาย LNG ระยะกลางราว 5 ปี และระยะยาว 10-15 ปี รองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ตามเป้าหมายของไทยในปี 65 จะมีศักยภาพที่จะรองรับการนำเข้า LNG ได้ในระดับ 19 ล้านตัน/ปี จากที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 1 ระยะที่ 2 เพื่อขยายขีดความสามารถรับ LNG เพิ่มเป็น 10 ล้านตัน/ปีที่จะแล้วเสร็จในปีนี้ และสร้างส่วนขยายอีก 1.5 ล้านตัน/ปี จะแล้วเสร็จในปี 62 ขณะเดียวกันก็จะสร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65
ความต้องการใช้ LNG ของไทยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ ปตท.มองเห็นถึงโอกาสสร้างมูลค่าในห่วงโซ่ธุรกิจ (Value Chain) เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างกำไรได้อย่างสม่ำเสมอของธุรกิจ จากปัจจุบันที่มี PTTEP ลงทุน LNG ในแหล่งโมซัมบิก ซึ่งเป็นขั้นต้น ขณะที่ ปตท.มีการนำเข้า LNG และแปลงสภาพ LNG เป็นก๊าซฯก่อนนำไปใช้ ซึ่งเป็นขั้นปลาย แต่ขาดการดำเนินการในส่วนกลางที่เป็นการนำก๊าซฯขึ้นมาแปลงสภาพเป็น LNG ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลวก่อนนำออกจำหน่าย และในอนาคตจะนำไปสู่การทำ LNG Trading
ดังนั้น ปตท.และ PTTEP อาจจะตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) เพื่อเข้าไปดำเนินการในส่วนที่ขาดไปให้ครบวงจรมากขึ้น คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันการที่ตลาด LNG เป็นของผู้ซื้อทำให้คาดว่ากลุ่ม ปตท.จะมีโอกาสมากขึ้นในการเข้าไปดำเนินการดังกล่าว โดยการเจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อขาย LNG นั้นก็จะมีการเจรจาเพื่อทำ Liquefaction แปลงสภาพก๊าซฯให้มีสถานะเป็นของเหลว หรือ LNG ก่อนนำออกจำหน่ายควบคู่กันไปด้วย ปัจจุบันมีการเจรจาอยู่กับหลายราย ซึ่งรวมถึงกลุ่มเชลล์และบีพี ที่ได้ทำสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวไปแล้วก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งเป็นการเจรจาเพื่อขอเข้าไปร่วมลงทุนตั้งแต่แหล่งผลิตเช่นเดียวกับการลงทุนในแหล่งโมซัมบิกด้วย
"การเจรจาตอนนี้ supply มากกว่า demand ในช่วงระยะสั้นถึงกลาง ก็เป็นโอกาสที่จะขอเข้าไปร่วมลงทุนใน Value Chain ของเขาทั้ง Liquefaction และต้นน้ำ นอกเหนือจากในโมซัมบิก PTTEP ก็จะดูในส่วนของต้นน้ำ cash เรามีเยอะ และมีศักยภาพในการกู้อีกมากเพราะหนี้ต่อทุนต่ำ cash ของ PTTEP มี 4 พันล้านเหรียญ ของปตท.ก็มี cash อีก 4 พันล้านเหรียญ ตอนนี้เรามีพร้อมเรื่องการเงิน ราคาน้ำมันและก๊าซฯก็อยู่ในช่วงที่ปรับขึ้นแต่ยังไม่มาก ซึ่งเป็นโอกาสของการลงทุน"นายวิรัตน์ กล่าว
นายวิรัตน์ คาดว่าปีนี้ดีลการซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) ของธุรกิจปิโตรเลียมน่าจะมีออกมามากขึ้น หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มมีเสถียรภาพในระดับ 50-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้ขายยังไม่ตัดสินใจขายแหล่งปิโตรเลียมออกมา แต่การที่ราคาขยับตัวสูงขึ้นแต่ตลาดยังไม่มีความมั่นใจถึงทิศทางของราคาน้ำมันว่าจะค่อย ๆ ขึ้นหรือปรับลดลงนั้น ทำให้เชื่อว่าจะมีดีลออกมามากขึ้น ก็ทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะมีโอกาสการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเป้าหมายการลงทุนของกลุ่มปตท.
สำหรับ แหล่งผลิต LNG ในโมซัมบิก ที่ปัจจุบัน PTTEP ถือหุ้นอยู่ 8.5% นั้น คาดว่าจะมีตัดสินใจลงทุนครั้งสุดท้าย (FID) ในปี 61 โดยแหล่งดังกล่าวอยู่ในเป้าหมายที่ JV ของกลุ่มปตท.จะเข้าไปลงทุนทำ Liquefaction ด้วย
ทั้งนี้ ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติยังคงมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและการที่หลายประเทศเริ่มมาใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยคาดว่าภายใน 20 ปีข้างหน้าความต้องการใช้ก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้าอาจอยู่ที่ราว 24-25% จาก 24% ในปัจจุบัน,ถ่านหิน ลดลงเหลือ 24% จาก 29-30% ในปัจจุบัน ,น้ำมัน เหลือ 29% จาก 32% ในขณะนี้ และพลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นมาที่เกือบ 10% จาก 3-4% ในปัจจุบัน
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการศึกษาสร้างคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) ในเมียนมา ขนาด 3 ล้านตัน/ปี คิดเป็นปริมาณก๊าซฯราว 420 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน นั้น ล่าสุดได้เซ็นสัญญากับทางรัฐบาลเมียนมาในรูปแบบของรัฐกับรัฐ (G to G) เพื่อร่วมดำเนินโครงการ ซึ่งตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 70 แต่ปตท.เชื่อว่าจะสามารถเร่งให้แล้วเสร็จได้ในปี 67 โดยเชื่อว่าปริมาณ LNG ดังกล่าวราว 2 ใน 3 จะถูกส่งมาใช้ในไทย เพื่อรองรับกับปริมาณก๊าซฯจากเมียนมาที่จะใกล้หมดสัญญา
ส่วนการดำเนินโครงการ FSRU ทางภาคใต้ของไทยนั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะให้ใครเป็นผู้ดำเนินการ แต่ในส่วนของปตท.ก็พร้อมที่จะดำเนินการ และยังมองโอกาสการที่จะสร้างเป็นคลัง LNG บนบกด้วย แต่ทั้งนี้ ยังต้องรอความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ก่อน
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากการสร้าง Value Chain ในธุรกิจ LNG แล้ว ปตท.ยังมองโอกาสการสร้าง Value Chain ในธุรกิจไฟฟ้าด้วย โดยได้ประสานงานใกล้ชิดกับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีแหล่งเชื้อเพลิงทั้งในส่วนของก๊าซฯ และถ่านหิน ปัจจุบัน ปตท.ก็มีการลงทุนในธุรกิจถ่านหินอยู่ในอินโดนีเซีย โดยปัจจุบันยังไม่ได้ตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะสรุปแผนดังกล่าวได้ในช่วงกลางปีนี้
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการแยกก๊าซอีเทนจาก LNG ( Ethane Extraction) มูลค่าหลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อป้อนให้กับโรงงานปิโตรเคมี ซึ่งจะช่วยชดเชยปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่จะลดลง ปัจจุบันได้มีการประสานงานกับบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ซึ่งเป็นผู้ใช้อีเทนในโรงงานปิโตรเคมีอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้
อินโฟเควสท์