- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 24 April 2017 23:00
- Hits: 10313
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 17-21 เม.ย. 60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 24-28 เม.ย. 60
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 1.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 21 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่น (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 14) อยู่ที่ 688 แท่น
- รายงาน Drilling Productivity Report ของ EIA คาดปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 60 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 5.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนสูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 58
- ทางการอินเดียรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน มี.ค.60 ลดลงจากปีก่อน 5.2 % อยู่ที่ 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Bloomberg คาดการณ์แหล่งผลิต Syncrude กำลังการผลิต 350,000 บาร์เรลต่อวัน ของแคนาดา (ปัจจุบันอัตราการผลิตต่ำเนื่องจากเหตุไฟไหม้ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา) จะผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. 60 สู่ระดับสูงกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด และปรับสู่อัตราการผลิตเต็มกำลังในเดือน มิ.ย. 60
ปัจจัยส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
- ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้น ล่าสุดเกาหลีเหนือประกาศพร้อมจมเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดี Donald Trump สั่งการให้เคลื่อนเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลีในสัปดาห์นี้ อีกทั้งจับกุมพลเมืองสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอดีตศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยยานเบียนในจีน ทำให้เกาหลีเหนือควบคุมตัวพลเมืองสหรัฐฯ รวม 3 คน
- Joint Organization Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 0.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 6.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2559
- Bloomberg รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซีย เดือน มี.ค. 60 เฉลี่ยอยู่ที่ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 2.16% หรือ 247,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับในเดือน ต.ค. 59 (ปริมาณที่รัสเซียตกลงร่วมลดปริมาณการผลิต) ทั้งนี้รัสเซียตั้งเป้าลดปริมาณการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน เม.ย. 60 ตามที่ตกลงไว้กับกลุ่ม OPEC
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 18 เม.ย. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 17,851 สัญญา อยู่ที่ 355,077 สัญญา เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวลดลงแรงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 60 และในวันศุกร์ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI ปิดตลาดต่ำกว่าระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับแนวต้านทางจิตวิทยาสำคัญอีกครั้ง โดยนักลงทุนยังคงเทขายน้ำมันดิบเนื่องจากความกังวลว่าการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC ไม่ส่งผลให้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามล่าสุดกลุ่มผู้ผลิตส่งสัญญาณว่าจะทำการลดกำลังการผลิต หลังการประชุม Joint Technical Committee (JTC) แนะนำให้กลุ่มผู้ผลิตลดกำลังการผลิตต่อเนื่องเป็นเวลาอีก 6 เดือน ตามที่นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย และนาย Essam al-Marzouq รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคูเวต ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า ทางด้านนาย Alexander Novak รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย ผู้ผลิต Non-OPEC อันดับ 1 กล่าวว่าการประชุม JTC ยังไม่ถือว่าเป็นการตัดสินใจลดกำลังการผลิตอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางผู้ผลิตกลุ่ม Non-OPEC จะประชุมร่วมกับ OPEC อีกครั้งในวันที่ 24 พ.ค. 60
ก่อนหน้าการประชุมสามัญของ OPEC ในวันที่ 25 พ.ค. 60 ทางด้านเศรษฐกิจผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก นาย Emmanuel Macron ผู้นำพรรค En Marche! และนาง Marine Le Pen ผู้นำพรรค Front National ผ่านการเลือกตั้งรอบแรกตรงตามที่นักลงทุนคาดการณ์ ส่งผลให้ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเดิมนักลงทุนเกรงว่านาย Jean-Luc Melenchon ผู้นำพรรค La France Insoumise และนาง Marine Le Pen ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านยุโรปทั้งคู่จะได้รับเลือก ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50.0- 54.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48.0- 52.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 49.5-53.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินเดือน มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.5% มาอยู่ที่ระดับ 7.14 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินในหลายภูมิภาคเพิ่มขึ้น ได้แก่ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุด 15 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 87,000 บาร์เรล อยู่ที่ 11.2 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 14 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 237.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม EIA คาดอุปสงค์ น้ำมันเบนซิน ในช่วงฤดูขับขี่ของสหรัฐฯ ช่วงเดือน พ.ค. 60-ก.ย. 60 จะอยู่ที่ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันเบนซินจากเอเชียไปตะวันออกกลางเปิด และประเมินว่าจะทำให้ปริมาณสำรองในเอเชียลดลง ซึ่งล่าสุด IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.95 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.70 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.0-69.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลงจากข่าว โรงกลั่น Tabangao (กำลังการกลั่น 110,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Shell ที่ประเทศฟิลิปปินส์ กลับมาดำเนินการอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 60 หลังจากต้องหยุดการดำเนินการฉุกเฉินเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 60 และ กรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลเดือน มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53% มาอยู่ที่ 474,320 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ Petroleum Planning & Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลเดือน มี.ค.60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 34% อยู่ที่ระดับ 160,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 15 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.4 ล้านบาร์เรล หรือ 3.9 % อยู่ที่ 9.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.06 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.29 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 14 เม.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 148.3 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62.0-66.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล