- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 20 April 2017 21:21
- Hits: 8060
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 10-14 เม.ย. 60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 17-21 เม.ย. 60
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
- National Oil Corp. บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ระงับการส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่ง Sharara (กำลังการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน) จากท่าส่งออก Zawiya เนื่องจากกองกำลังติดอาวุธยึดท่อขนส่ง ในจันทร์ที่ 10 เม.ย. 60 (ก่อนหยุดผลิตแหล่ง Sharara ผลิตที่ระดับ 213,000 บาร์เรลต่อวัน และลิเบียผลิตน้ำมันดิบได้ 660,000 บาร์เรลต่อวัน)
- ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นหลัง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ประกาศพร้อมจัดการเกาหลีเหนือโดยสั่งการให้กองเรือบรรทุกเครื่องบิน รุดหน้าสู่คาบสมุทรเกาหลี ขณะที่เกาหลีเหนือขู่ว่าพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้สหรัฐ ฯ ประกอบกับสถานการณ์ในซีเรียทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียตกต่ำ เพราะรัสเซียใช้สิทธิ Veto ไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประณามการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 เม.ย. 60 ลดลง 2.0 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 533.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ประมาณการณ์เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานปริมาณนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.9% มาอยู่ที่ 11.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงระดับสูงสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 59
- บริษัท BP รายงานพนักงานสามารถหยุดการรั่วไหลที่แหล่งผลิต Alaska’s North Slope สำเร็จวานนี้ (17 เม.ย. 60) โดยจำเป็นต้องหยุดการดำเนินการฉุกเฉิน แหล่งน้ำมันข้างต้นผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 556,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 60
ปัจจัยส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 13 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 11 แท่น อยู่ที่ 683 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 13
- รายงาน Drilling Productivity Report ของ EIA คาดปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนสูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 58 และมาอยู่ที่ 5.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และประเทศเกาหลีเหนือ ล่าสุดรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Mike Pence ได้เดินทางไปเกาหลีใต้ และกล่าวว่าเกาหลีเหนือไม่ควรยั่วยุ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังจากการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารในซีเรียและอาฟกานิสถานครั้งล่าสุด ด้านรองผู้แทนเกาหลีเหนือต่อสหประชาชาติ นาย Kim In Ryong ตอบโต้ว่า สหรัฐฯ ได้สร้างสถานการณ์ที่สงครามนิวเคลียร์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และเกาหลีเหนือจะยังคงทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ในเวลาและสถานที่ตามที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสม ในระยะสั้นนักลงทุนยังคงมีความเชื่อมั่นว่าตลาดน้ำมันดิบยังอยู่ระหว่างการปรับตัวเข้าสู่สมดุล โดยในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มจำนวนสัญญาซื้อสุทธิ (Net Long Position) ทั้งน้ำมันดิบ Brent และ WTI ในตลาดซื้อขายล่วง ICE และ NYMEX โดย Net Long Position ของน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 33,925 สัญญา (เพิ่มขึ้นรายสัปดาห์มากสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 59) มาอยู่ที่ 437,244 สัญญา และน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 44,747 สัญญา มาอยู่ที่ 337,225 สัญญา อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย นาย Kahlid al-Falih
กล่าวว่า ยังเร็วเกินไป ที่จะมีการเจรจาระหว่างผู้ผลิตกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC เพื่อกำหนดเพดานการผลิตหรือขยายระยะเวลาต่อในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2560 กอปรกับ EIA คาดว่าปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 60 จะเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ที่ระดับ 5.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในช่วงไตรมาสที่ 1/60 กองทุนเอกชนเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานถึง 1.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในแหล่ง Permian ที่ระดับคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ 40.0-55.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทางด้านเทคนิค ในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.0 – 57.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 51.0-54.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 53.0-56.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นหลัง Bloomberg รายงานยอดขายน้ำมันเบนซินในจีน เดือน มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 16.5% อยู่ที่ระดับ 626,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นยอดขายสูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 59 และPlatts รายงาน Arbitrage น้ำมันเบนซินจากเอเชียไปตะวันออกกลางเปิด ซึ่งจะทำให้อุปทานและปริมาณสำรองในเอเชียลดลงอย่างไรก็ตาม Reuters รายงานโรงกลั่น Balikpapan (กำลังการกลั่น 260,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Pertamina ในอินโดนีเซียกลับมาดำเนินการวันที่ 17 เม.ย. 60 หลัง Crude Distillation Unit (200,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดซ่อมบำรุงเมื่อต้นเดือน มี.ค.60 และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 12 เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.21 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 14.65 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.5-71.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลหลัง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 12 เม.ย.60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.03 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.36 ล้านบาร์เรล ต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน และ Reuters รายงานกำลังการกลั่นของโรงกลั่น 22 แห่งในประเทศญี่ปุ่นลดลงจาก 3.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 57 สู่ระดับ 3.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 60 ขณะที่สัดส่วนของ Residue Cracking Unit/CDU ในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นจาก 45 % สู่ระดับ 55 % ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน Residue Fuel ลง ซึ่งโรงกลั่นส่วนมากใช้วิธีลดกำลังการกลั่น สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.5-68.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล