- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 20 April 2017 21:19
- Hits: 7233
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 17-21 เม.ย. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 10-14 เม.ย.60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 17 - 21 เมย. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะทรงตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับ ข่าวการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตต่อจากเดือนมิ.ย. ที่มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงหลังรัสเซียเตรียมหารือกับบริษัทในประเทศถึงความเป็นไปได้ของมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากการที่โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นสูงขึ้นเพื่อรองรับการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ รวมถึงการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่ปรับลดลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาการประชุมของผู้ผลิตระหว่างกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 17 เม.ย. ว่าปริมาณการผลิตของโอเปกในเดือน มี.ค. ปรับลดลงมากน้อยเพียงใดและจะมีการขยายระยะเวลาของมาตรการปรับลดกำลังการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 หรือไม่ โดยจากสำรวจของ Reuters คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกทั้ง 13 ประเทศปรับลดลงราว 230,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือนก.พ. มาอยู่ที่ระดับ 32.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการปรับลดลงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งปรับลดตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตและการปิดซ่อมบำรุงของแหล่งผลิตน้ำมันดิบ เหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบีย และการปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย ในขณะที่ปริมาณการผลิตนอกกลุ่มโอเปก นำโดยรัสเซียมีแนวโน้มปรับตัวลดลงและคาดว่าจะปรับลดลงได้ตามเป้าหมายในสิ้นเดือน เม.ย. นอกจากนี้ทางด้านรัสเซียเตรียมจะหารือกับบริษัทน้ำมันในประเทศเรื่องความเป็นไปได้ของการปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ในเร็วนี้
จับตาสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศลิเบีย เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับลดลงอีกครั้ง หลังกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ทำการปิดกั้นท่อขนส่งน้ำมันดิบไปยังท่าเรือ Zawiya ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ปรับลดลงอีกครั้งหลังในช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียได้ประกาศยกเลิก Force Majeure สำหรับการส่งออกน้ำมันดิบและสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบขึ้นมาจากระดับก่อนหน้าเดิมที่ 508,000 บาร์เรลต่อวัน ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงต้นเดือน เม.ย. 60
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบลดลง หลังโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 90 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยลดผลกระทบของการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าระดับการเพิ่มขึ้นของเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ระดับ 4.1 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากชั้นหินดินดาน (Shale oil) มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ภายหลังจากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับต้นทุนการผลิตที่ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 10 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 672 แท่น นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 12 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยกว่า 2 ใน 3 ของการปรับเพิ่มขึ้นมาจากแหล่งผลิต Permian ที่มีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 - 14 เม.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ ปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันของลิเบียที่มีแนวโน้มปรับลดลง หลังผู้ก่อความไม่สงบปิดกั้นท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันดิบ Sharara ไปยังท่าเรือ Zawiya ส่งผลให้ต้องมีการปิดแหล่งน้ำมันดิบดังกล่าวชั่วคราว นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดระหว่างซีเรียและสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ ส่งขีปนาวุธโจมตีฐานทัพของซีเรีย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังตลาดกังวลสหรัฐฯ เพิ่มการผลิตขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง
- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบางลงกว่าร้อยละ 60 ในช่วงวันหยุด Easter หลังตลาดกังวลการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ระดับ 683 แท่น โดยสำนักงานสารทนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการผลิตน้ำมันดิบในชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. จะปรับเพิ่มขึ้น 123,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 5.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ พ.ย. 58
- นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดัน หลังรัฐมนตรีของซาอุดิอาระเบียเปิดเผยว่ายังเร็วเกินไปสำหรับการพิจารณาขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตต่อไปอีก 6 เดือนหลังข้อตกลงจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 60 สวนทางกับอิหร่านและผู้ผลิตน้ำมันดิบรายอื่นในกลุ่มโอเปกที่ออกมาสนับสนุนให้มีการต่อมาตรการดังกล่าวออกไป
+ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของปีนี้ที่เติบโตสูงสุดในรอบ 18 เดือนที่ระดับ 6.9% ช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบไม่ให้ปรับตัวลดลงไปมากนัก โดยระดับดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้และมากกว่าระดับที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6.5% หลังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตร้อนแรงมาก ส่งผลให้ตลาดคาดความต้องการใช้น้ำมันจากจีนมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางของเศรษฐกิจ
+ ตลาดจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงร้อนแรง หลังเกาหลีเหนือขู่จะเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธต่อเนื่อง ในขณะที่สหรัฐฯ จับมือกับประเทศต่างๆ ในการตอบโต้เกาหลีเหนือ โดยกองทัพสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้เริ่มปฎิบัติการซ้อมรบทางอากาศร่วมกัน โดยจะมีกำหนดระยะเวลาสองสัปดาห์
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 เม.ย. ที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ประมาณ 14.65 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ แรงซื้อที่เบาบางลงจากอินโดนีเซียหลังโรงกลั่นในประเทศกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังเผชิญกับแรงกดดันจากการส่งออกของจีนและเกาหลีใต้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมของผู้ผลิตระหว่างกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกในเร็วนี้ว่าทิศทางการปรับลดกำลังการผลิตหรือกลุ่มผู้ผลิตจะเป็นอย่างไรและจะมีการหารือถึงการขยายระยะเวลาของมาตรการปรับลดกำลังการผลิตหรือไม่ โดยในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกทั้ง 13 ประเทศปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือน ก.พ. นำโดยการปรับลดลงของลิเบียหลังเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เริ่มปรับลดตามข้อตกลงมากขึ้น ขณะที่ซาอุดิอาระเบียยังคงกำลังการผลิตในระดับต่ำกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันกว่า 3 เดือนติดต่อกัน สำหรับปริมาณการผลิตนอกกลุ่มโอเปก นำโดยรัสเซียมีแนวโน้มปรับตัวลดลงและคาดว่าจะปรับลดลงได้ตามเป้าหมายในสิ้นเดือน เม.ย.
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบลดลง หลังโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกำลังการผลิตขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 91 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยลดผลกระทบของการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 11 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 683 แท่น นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 13 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยกว่า 2 ใน 3 ของการปรับเพิ่มขึ้นมาจากแหล่งผลิต Permian ที่มีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ