- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 14 April 2017 19:51
- Hits: 11260
10 รายชิง 2 แหล่งก๊าซ'อนันตพร'ยันเปิดประมูลทันกค.นี้
แนวหน้า : พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยความคืบหน้า ในการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมในแหล่งบงกชและเอราวัณ ว่า ล่าสุดมีเอกชนทั้งรายเก่า และรายใหม่ ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลแล้วกว่า 10 ราย แต่ยังรอเงื่อนไข หรือทีโออาร์ การประมูลที่ชัดเจน
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพลังงาน ได้จัดประชุมกลุ่มย่อย หรือ Focus Group ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมทั้งสองแหล่ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าควรใช้ รูปแบบใดในการเปิดให้สิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่ละแปลง ระหว่างระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) และระบบรับจ้างผลิต(เอสซี) อย่างไรก็ตาม การพิจารณาทุกอย่างเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งจะมีอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์เสนอต่อคณะกรรมการปิโตรเลียม และเสนอมาให้รมว.พลังงาน พิจารณาแล้วเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไป โดยขณะนี้คณะกรรมการปิโตรเลียมอยู่ระหว่างพิจารณาปริมาณปิโตรเลียมสำรอง และจำนวนหลุมขุดเจาะในแปลงปิโตรเลียม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และทันต่อการเปิดประมูลในเดือนกรกฎาคม 2560 ส่วนกรณีที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เริ่มต้นครั้งแรกในวันที่ 20 เมษายนนี้ ยืนยันว่าเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ไม่ได้เป็นเพราะได้รับเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน
พลเอกอนันตพร กล่าวถึงกรณีการตัด มาตรา 10/1 ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และใส่ข้อสังเกตเรื่องการจัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(เอ็นโอซี) แนบท้ายนั้น ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยังไม่ ส่งร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและข้อสังเกตเพิ่มเรื่อง การจัดตั้งเอ็นโอซี มาให้รัฐบาลพิจารณาแต่อย่างใด โดยการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษา ทางกระทรวง จะเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย แต่คงไม่ขอเป็นประธานคณะกรรมการ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียจาก กรมเชื้อเพลิง ธรรมชาติ อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวง อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังศึกษาเรื่องการจัดตั้งเอ็นโอซี หากรัฐบาลเห็นว่าผลการศึกษาเหมาะสมก็อาจจะใช้ผลของคลังก็ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าคลังศึกษาถึงขั้นตอนใด
กรณี ข้อเสนอของภาคประชาชนบางกลุ่ม ให้ไทยซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียมารองรับความต้องการใช้ในพื้นที่ภาคใต้ แทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น สามารถทำได้หากไม่คำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงาน หากไทยซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียจะมีสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศที่สูงเกินไป แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ต้องตัดสินใจภายในปีนี้ ว่าจะเลือกใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน หรือนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมาผลิตไฟฟ้าในภาคใต้
รมว.พลังงาน ยังกล่าวว่า กระทรวงได้จัดทำ "โครงการการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายและการส่งเสริมบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน" ว่า เป็นความร่วมมือของ กระทรวงพลังงาน กับภาคเอกชน อาทิ ปูนซิเมนต์ไทย บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ฯลฯ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริม ให้ภาคเอกชนมีการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย และส่งเสริมบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า การบังคับใช้เกณฑ์การออกแบบอาคารใหม่ด้านพลังงาน (Building Energy Code : BE) ที่ดำเนินการ ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย คาดว่าปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ต้นปี 2561 นำร่องอาคารขนาดใหญ่พื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม. ขึ้นไปก่อน
โยน'คลัง'ตั้ง NOC ก.ค.นี้เปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม
ไทยโพสต์ : วิภาวดีรังสิต * พลังงานโยนคลังตั้งประธานตั้งเอ็นโอซี พร้อมร่วมเป็นกรรมการ เผย ก.ค.นี้ เปิดประมูลแหล่งปิโตร เลียมที่หมดอายุ
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงกำลังรอคำตัดสินจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะให้หน่วยงานใดศึกษาการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (เอ็นโอซี) โดยทางกระทรวงจะเข้าร่วมแค่เป็นคณะกรรมการตามหน้าที่ต้องรับผิดชอบเท่านั้น ไม่เป็นเจ้าภาพในการจัดตั้ง เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงพลังงานได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลังให้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการศึกษาเรื่องดังกล่าว แต่หากมีมติของ ครม.ออกมาอาจจะให้มีการควบรวมกับคณะกรรมการชุดเดิมเพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงได้เสนอให้มีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐ กิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สสช. (สภาพัฒน์) และตัวแทนของภาคประชาชนเข้าร่วมเจรจาด้วย เพื่อขยายแนวทางการหารือให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของทุกภาคส่วน
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า สำหรับการเปิดประมูล (บิดดิ้ง) แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช ที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 นี้นั้น ภายในเดือน พ.ค. จะมีการกำหนดรูปแบบแล้วเสร็จ ว่าจะใช้สัมปทาน จ้างบริการ (เอสซี) หรือแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ก่อนเสนอให้กับ ครม.อนุมัติ และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายใน ก.ค.60 นี้ จากนั้นจะเร่งรัดให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และหากเร่งรัดแล้วเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ก็อาจจะต้องมีการขยายกำหนดการเวลาออกไปจากเดิมเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม กรมเชื้อ เพลิงธรรมชาติจะจัดการประ ชุมรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (โฟกัสกรุ๊ป) อีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เพื่อหารือร่วมกับเอกชนและนักวิชาการ ซึ่งมีเอกชนกว่า 10 รายแล้วที่สนใจเข้าร่วม.