- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 14 April 2017 19:44
- Hits: 11378
ส.ป.ก.แก้ถ้อยคำข้อกำหนดเช่าที่ดินเอื้อวางกังหันลม เล็งปรับผลตอบแทนสรุป 30 เม.ย.
นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า แม้การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการวินด์ฟาร์มจะจบสิ้นลงแล้ว และทั้ง 16 บริษัท รวม 17 โครงการจะได้ดำเนินการขออนุญาตถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดของส.ป.ก. ก็ตาม แต่หลังจากนี้ ส.ป.ก.จะดำเนินการใน 3 เรื่อง
เรื่องแรก คือ ให้ฝ่ายกฎหมายของ ส.ป.ก.จะทบทวนข้อความในประกาศ ส.ป.ก.ข้อ 1.5 จาก 'กิจการที่เป็นการผลิตหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคม'เป็น'กิจการที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน'
"เนื่องจาก Wording ในประกาศ ส.ป.ก.ข้อ 1.5 เขียนไว้ค่อนข้างกว้างขวาง เกรงว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้คนเข้าใจไขว้เขวว่า ส.ป.ก.จะจัดสรรที่ดินเพื่อการอื่น ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ซึ่งจะพยายามคิดทบทวนว่าควรจะเขียนอย่างไรให้สอดคล้องกับกฎหมายและถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของส.ป.ก. ซึ่งเดิมก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่เกิดความกังขา และความสงสัยในสังคมว่าถ้อยคำเกินอำนาจหรือเกินวัตถุประสงค์หรือเปล่า โดยคาดว่าจะได้ข้อยุติภายในไม่เกินวันที่ 18 เม.ย.นี้"นายสมปองกล่าว
จากนั้นจะนำไปสู่การพูดคุยกับสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกันทุกฝ่ายทั้งตามนโยบายพลังงานและตามกฎหมายส.ป.ก. คาดว่าจะพยายามให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 เม.ย.นี้
"ที่จะคุยกับฝ่ายพลังงาน คือ กระบวนการขออนุญาตทั้งหมด, สิ่งที่จะทบทวนในประกาศข้อ 1.5, การคิดรายได้ที่จะเข้ามาสู่ภาครัฐว่าควรจะเป็นอย่างไรจึงจะสมเหตุสมผล"เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าว
ส่วนขั้นตอนต่อไป เมื่อได้ข้อยุติกับฝ่ายพลังงานแล้ว จะนำบทสรุประหว่างภาครัฐกับภาครัฐไปหารือกับภาคเอกชน ซึ่งเบื้องต้นจะพยายามหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมกังหันลม ผู้ประกอบการพลังงานกังหันลม เพื่อจะได้เข้าใจในเจตนารมณ์ของภาครัฐมากขึ้น ที่สำคัญคือจะได้ไปปฏิบัติเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรหรือคนในชุมชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง คาดว่าราวเดือนพ.ค.จะได้ข้อยุติในการพูดคุยกับเอกชนทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน จากนั้นจะนำข้อสรุปทั้งหมดเสนอให้พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พิจารณาอีกครั้ง
"หากจะต้องเสนอ คปก.ก็เสนอ แต่ถ้าเป็นเรื่องระหว่างส.ป.ก.กับรัฐมนตรีก็อาจจะดำเนินการได้เลย ต้องดูผลยุติสุดท้ายที่ดีที่สุด ที่ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องยึดหลักคำพิพากษาของศาลด้วย เพราะคำพิพากษาของศาลได้วางแนวทางเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่ ส่วน 16 บริษัท รวม 17 โครงการนั้น ถ้ามีข้อสรุปของมาตรการใหม่ที่ ส.ป.ก.ได้หารือกับทุกฝ่ายแล้ว ก็จะต้องดำเนินการตามมาตรการใหม่นี้ด้วย รวมทั้ง 5 รายที่ดำเนินการไปแล้วก็ต้องทำตามมาตรการใหม่นี้ด้วย" นายสมปอง กล่าว
ในส่วนของรายได้ที่ ส.ป.ก.จะได้รับจากกิจการกังหันลม จะมีการทบทวนทุกสัญญาว่าเป็นสัมปทานหรือไม่ และจะมีการทบทวนทุก 5 ปี เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่าอัตราเงินเฟ้อมีการขยับทุกปี ยกตัวอย่างกรณี มีบางรายขายไฟให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นกิจการที่เอกชนลงทุนกับรัฐ เป็นสัมปทานเพียงเจ้าเดียว ได้กำไรแน่นอน ซึ่งในกรณีแบบนี้ก็จะมีการหารือกับกระทรวงพลังงานด้วย
"จะคุยกับกระทรวงพลังงานให้เข้าใจว่า ในเมื่อมีบางรายจ่ายไฟให้รัฐแล้วกติกาเป็นอย่างไร จะรับมาแล้วไปศึกษารายละเอียดว่าควรจะมีมาตรการเพิ่มเติมไหม หรือควรคิดอัตราค่าเช่าแบบก้าวหน้าหรือไม่ แต่คาดว่าไม่น่าจะต้องไปดูถึงกฎหมายสัมปทานด้วย...ซึ่งกฎหมายส.ป.ก.จะดูแค่กิจการอะไรก็แล้วแต่ที่ขอใช้ที่ดินส.ป.ก.เกี่ยวข้องกับเกษตรกรไหม เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนในพื้นที่หรือไม่ เรามีหลักเกณฑ์พิจารณาอยู่... คาดว่าจะพยายามปรับปรุง ทบทวนข้อกฎหมายต่างๆ ให้รอบคอบ รัดกุมที่สุด และจะพยายามทำให่เสร็จก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ" เลขาธิการ ส.ป.ก.ระบุ
ทั้งนี้ ในประกาศของ ส.ป.ก.ระบุว่า "ผู้ประกอบกิจการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้ ส.ป.ก. 35,000 บาท/ปี/ไร่ ตามมติคปก. กำหนด และปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาเช่ากับ ส.ป.ก. เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้รับประโยชน์จริง จากการตรวจสอบจากเกษตรกร พบว่า ได้รับค่าชดเชยในพื้นที่ตั้งกังหันลม (ต่อปี) ค่าชดเชยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่รัศมีโครงการ(ต่อปี) ค่าชดเชยพืชผล (ครั้งเดียว) การจ้างแรงงานในพื้นที่ การส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ งานวันสำคัญทางศาสนา รวมถึงได้รับการพัฒนาถนนสาธารณะ และการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นต้น"
อินโฟเควสท์
พลังงานถกเกษตรแก้ปมสปก.เรกูเลเตอร์ชะลอซื้อไฟฟ้าขยะ
ไทยโพสต์ : วิภาวดีรังสิต * พลังงานนัดถก รมว.เกษตรฯ 14 ก.พ.นี้ หวังหาข้อสรุปกรณีเอกชนใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ทำกังหันลม ด้าน กกพ.ยันไม่เลิกซื้อไฟขยะ แต่เลื่อนรอกฎหมายมหาดไทยคลอด
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทด แทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ก.พ.60 นี้ กระทรวงพลังงานเตรียมเข้าหารือร่วมกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัล ยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาข้อสรุปความชัดเจนของการใช้พื้นที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากผลสรุปชัดเจนว่าไม่สามารถให้ผู้ประกอบการเช่าใช้พื้นที่ ส.ป.ก.เพื่อดำเนินการได้ ต้องหาพื้นที่ใหม่
"การหาพื้นที่ใหม่นั้นต้องพิจารณาถึงศักยภาพของพลังงานลม และความพร้อมของสายส่งไฟฟ้าด้วย จากนั้นต้องเสนอมาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโย บายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป"นายประพนธ์กล่าว
นายวีระพล จิรประดิษฐ กุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า กกพ.ได้มีมติให้เลื่อนกำหนดการซักซ้อมความเข้าใจในการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในวันที่ 15 ก.พ. 2560 ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2560 ได้เพิ่มเติมความใน พ.ร.บ.ด้านการจัด การสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และกำหนดให้การเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ในเขตพื้นที่ของราชการส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณสมบัติการเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดหาไฟฟ้าจากขยะชุมชน มีประสิทธิภาพและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล.
กกพ.'เลื่อนรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน
แนวหน้า : นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการ พลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยภายหลังจากการประชุม กกพ. ว่า ตามที่ได้มีประกาศ กกพ. เรื่อง การจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) พ.ศ. 2559 (ประกาศฯ) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ซึ่งกำหนดจัดประชุมเพื่อซักซ้อมความ เข้าใจในการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 นั้น เนื่องจาก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560
โดยได้เพิ่มเติมความในหมวด 3/1 การจัดการ สิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ซึ่งมาตรา 34/1 กำหนดให้การเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ในเขตพื้นที่ของราชการส่วนท้องถิ่นใด ให้เป็นหน้าที่ และอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น แต่ไม่รวมถึง องค์การบริหารส่วนจังหวัด การมอบให้เอกชน ดำเนินการหรือร่วมดำเนินการกับราชการส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ซึ่งปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำประกาศกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อมิให้กระทบต่อคุณสมบัติการเข้าร่วม โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดหาไฟฟ้าจากขยะชุมชนมีประสิทธิภาพและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ในการประชุม กกพ.ครั้งที่ 5/2560 (ครั้งที่ 447) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 จึงมี มติให้เลื่อนกำหนดการซักซ้อมความเข้าใจในการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม กกพ.อยู่ระหว่างหารืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงมหาดไทย โดยขอความชัดเจนในเรื่องการออกกฎหมายลูก การตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่ดูแล ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ.ในโครงการนี้ ซึ่งยังไม่ทราบว่าอีก 2 เดือน กฎหมายลูกจะเสร็จหรือไม่ ดังนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ เมื่อชัดเจน กกพ. คงจะประกาศได้แน่ชัดว่าจะเลื่อนกรอบเวลารับซื้อ จากเดิมวันที่ 1-2 มีนาคม ไปเป็นเมื่อใด ทั้งนี้ กกพ. ยังยืนยันว่าไม่ล้มโครงการรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน แต่คงต้องเลื่อนช่วงเวลารับซื้อให้เหมาะสม และปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ให้รอบคอบ