- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 03 April 2017 21:37
- Hits: 11025
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงปริมาณการผลิตน้ำมัน Shale ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง
- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10 แท่น มาอยู่ที่ 662 แท่น แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 58 และถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันถึง 11 สัปดาห์ นอกจากนี้จำนวนแท่นขุดเจาะยังมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 362 แท่น
+ ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังว่าผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2560
- ผลสำรวจรอยเตอร์ พบว่า นักวิเคราะห์ปรับลดการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในปี 2560 จากระดับ 55.66 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 55.29 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งชี้ให้เห็นว่านักวิเคราะห์ต่างมีความไม่มั่นใจในเรื่องของการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกว่าจะมากพอที่จะชดเชยกับการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ หรือไม่
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนอุปสงค์จากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ยังคงแข็งแกร่ง หลังหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินในประเทศยังคงหยุดดำเนินการผลิตจากผลกระทบของไฟไหม้เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากประเทศซาอุดิอาระเบียที่เริ่มกลับมาส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังประเทศอียิปต์มากขึ้น หลังหยุดส่งออกไปยังอียิปต์เป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศซาอุดิอาระเบียส่งออกไปยังภูมิภาคยุโรปลดลง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก โดยกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดการผลิตลงต่อเนื่อง นำโดยซาอุดิอาระเบียที่ยังคงปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ได้ตกลงไว้เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน นอกจากนี้ อิรักและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นจากการปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ในขณะที่ ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก การปรับลดกำลังการผลิตคาดจะมีแนวโน้มดีขึ้น หลังรัสเซียคาดจะปรับลดกำลังการผลิตได้ 300,000 ตามข้อตกลงในสิ้นเดือน เม.ย. นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 หลังปริมาณน้ำมันคงคลังโลกยังคงสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี
จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย หลังเกิดสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ต้องหยุดดำเนินการผลิตและประกาศฉุกเฉิน (Force Majeure) ในแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara และ Wafa ทำให้กำลังการผลิตของลิเบียปรับลดลงกว่า 250,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวัน และยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เมื่อใด
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังการนำเข้าและการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นคาดจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงหลังโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงและเพิ่มกำลังการกลั่นสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 มี.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 0.8 ล้านบาร์เรล มาสู่ระดับ 534 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรล