- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 03 April 2017 21:35
- Hits: 10193
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 3-7 เม.ย.60 และสรุปสถานการณ์ฯ 27-31 มี.ค. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 3 - 7 เมย. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังได้รับแรงหนุนจากข่าวการปรับลดกำลังผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มปรับลดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่คาดจะปรับลดลงรวมทั้งสิ้นกว่า 250,000 บาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียต้องหยุดดำเนินการผลิตแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara และ Wafa อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ติดตามการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก โดยกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดการผลิตลงต่อเนื่อง นำโดยซาอุดิอาระเบียที่ยังคงปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ได้ตกลงไว้เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน นอกจากนี้ อิรักและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบในเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกนั้น การปรับลดกำลังการผลิตมีแนวโน้มเป็นไปตามข้อตกลง หลังรัสเซียคาดจะปรับลดกำลังการผลิตได้ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ตามข้อตกลงภายในสิ้นเดือน เม.ย. นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 หลังปริมาณน้ำมันคงคลังโลกยังคงสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มโอเปกจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกด้วยเช่นกัน
จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย หลังเกิดสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ต้องหยุดดำเนินการผลิตและประกาศฉุกเฉิน (Force Majeure) ในแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara และ Wafa ทำให้กำลังการผลิตของลิเบียปรับลดลงกว่า 250,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่กำลังการผลิตระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวัน และยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจนว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เมื่อใด
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังปริมาณการนำเข้าและการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นคาดจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงหลังโรงกลั่นน้ำมันกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงและเพิ่มกำลังการกลั่นสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 มี.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 800,000 บาร์เรล มาสู่ระดับ 534 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นกว่า 4 แสนบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตในชั้นหินดินดานที่ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 10 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 662 แท่น ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 11 สัปดาห์ติดต่อกันและเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 2 ปี
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตจีน ดัชนีการผลิตยูโรโซนและสหรัฐฯ ดัชนีภาคการบริการจีน ดัชนีการผลิตยูโรโซนและสหรัฐฯ อัตราการว่างงานยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 - 31 มี.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ ปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังปริมาณการผลิตของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกคาดว่าจะปรับลดลงในเดือนมี.ค. ราว 232,000 บาร์เรลต่อวัน จากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้ง 11 ประเทศ ขณะที่กำลังการผลิตของลิเบียปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธในลิเบียปิดกั้นการผลิตที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบ Sharara และ Wafa ส่งผลให้กำลังการผลิตปรับลดลงราว 252,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง