- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 12 August 2014 23:47
- Hits: 2513
โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 สร้างระบบไฟฟ้าที่มั่นคง เพื่อความสุขของคนไทย
บ้านเมือง : ทันทีที่การติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มแรงดันก๊าซฯ ของแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย แปลง A18 (แหล่ง JDA-A18) แล้วเสร็จ และส่งจ่ายก๊าซได้เป็นปกติ โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็สามารถกลับมา เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อีกครั้ง หลังจากต้องหยุดเดินเครื่องนานถึง 25 วัน
โรงไฟฟ้าจะนะ นับว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความสำคัญต่อระบบไฟฟ้าของภาคใต้เป็นอย่างมาก โดยโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 731 เมกะวัตต์ ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นโรงไฟฟ้าหลักให้กับภาคใต้ ตั้งแต่ ปี 2551 และเมื่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวของภาคใต้มีมากขึ้น โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าจะนะ (โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2) จึงได้ถูกบรรจุไว้ ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564 (PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) เพื่อเสริมให้ระบบไฟฟ้า ในพื้นที่ภาคใต้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 ครอบคลุมบริเวณพื้นที่ตำบลป่าชิง และตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดกำลังผลิต 782 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยในบริเวณพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย (แหล่ง JDA) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 แล้วเสร็จสามารถ จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไฟฟ้าในภาคใต้เป็นอย่างมาก กฟผ. จึงได้ออกแบบโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 ให้สามารถใช้น้ำมันดีเซล เป็นเชื้อเพลิงสำรองในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งปรับปรุงโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 ให้สามารถใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรองในการผลิตไฟฟ้าได้ด้วย เช่นกัน โดยทำการก่อสร้างถังเก็บน้ำมันดีเซลและปรับปรุงหัวพ่นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 ให้ใช้ได้ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซลมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2558
จากแนวคิดในการอยู่ร่วมกับชุมชนของโรงไฟฟ้าจะนะ ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน
การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมจึงเป็นไปตาม ความต้องการของวิถีชีวิตชุมชนชาวภาคใต้ ซึ่งประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก โดย โรงไฟฟ้าจะนะได้ร่วมกับชุมชนจัดตั้งธนาคารปูม้า คลองนาทับขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจใน การทำประมงโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยรับบริจาคแม่ปูที่มีไข่เพื่อนำไข่ปูมาเพาะเลี้ยงก่อนปล่อยลงสู่ธรรมชาติ เป็นการคืนชีวิตสัตว์น้ำและเพิ่มพันธุ์ปูม้าให้กับลำคลองนาทับ ช่วยให้คลองนาทับซึ่งเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของ ชาวบ้านมีปูม้าอุดมสมบูรณ์
โรงไฟฟ้าจะนะตระหนักอยู่เสมอว่าการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขได้นั้น การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าจะต้องส่งผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด โรงไฟฟ้าจะนะจึงได้วางมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านน้ำ อากาศ ฝุ่น เสียง ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานตลอดเวลา
จากลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้ที่รายล้อมไปด้วยทะเล ไม่เพียงทำให้ภาคใต้ของไทยเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านการประมง เป็นแหล่งกระจายสินค้าและคมนาคมขนส่งทางทะเล แต่ด้วยธรรมชาติที่สวยงามยังเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว เสริมให้ ภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆของเอเชีย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าของภาคใต้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 ที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ จำนวน 782 เมกะวัตต์นี้ จึงเป็นความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ที่ กฟผ. ส่งมอบให้กับพี่น้องชาวใต้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี ของการดำเนินงาน เพื่อให้โรงไฟฟ้าจะนะได้ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้า เพื่อความสุขของคนไทยตลอดไป