- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 03 April 2017 12:34
- Hits: 8645
นาโนเทค สวทช. ผนึก วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ ร่วมวิจัยและพัฒนาสู่ความเป็นผู้นำด้านนาโนเทคโนโลยีในศาสตร์ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ มุ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรมสู่ Thailand 4.0
ในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2560 (NAC2017) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนาม “ความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเพื่อความเป็นผู้นำด้านนาโนเทคโนโลยีในศาสตร์ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์” ขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีในศาสตร์ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ มุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสององค์กร และต่อยอดสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนระบบกลไกการพัฒนาและบริหารหลักสูตรด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาบัณฑิตที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า “ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเพื่อความเป็นผู้นำด้านนาโนเทคโนโลยีในศาสตร์ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ ระหว่างวิทยาลัยปิโตรเลียม และปิโตรเคมี จุฬาฯ และนาโนเทค สวทช. เป็นความร่วมมือเพื่อประสานความเข้มแข็งของทั้งสององค์กร ในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีในศาสตร์ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ และส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อพัฒนางานวิจัยและและกำลังคนด้านนาโนเทคโนโลยี ผ่านการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัย และแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการและโอกาสในการต่อยอดงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม สร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาด้านปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์ รวมถึงต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างแท้จริงในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต”
“ปัจจุบันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพอลิเมอร์สามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศระดับมหภาค โดยงานวิจัยและพัฒนาเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จ ที่สำคัญในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมดังกล่าวให้เติบโตอย่างยั่งยืน การประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขั้นการพัฒนาวัตถุดิบไปจนถึงกระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ที่มีสมบัติพิเศษ หรือมีความจำเพาะที่เหมาะต่อการใช้งาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกระบวนการให้ได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Value-Based Economy ตามนโยบายของรัฐบาล ในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์โดยการใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี” ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนในระดับอุดมศึกษา คือ ปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งหลักสูตรจะเน้นการทำวิจัยที่ตอบโจทย์ของประเทศและภาคอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์นับมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาวิทยาลัยมีการพัฒนาวัสดุพอลิเมอร์ให้มีคุณภาพที่ดีและสูงขึ้น รวมทั้งมุ่งสู่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่จะเน้นในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนจากพืชสู่วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่มุ่งสู่การใช้งานเทคโนโลยีสีเขียวที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการอุตสาหกรรม 4.0”