- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 12 August 2014 23:46
- Hits: 2500
ไทยส่อเค้าเสี่ยงวิกฤติพลังงาน
บ้านเมือง : นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวถึงการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี 2015-2035 จะปรับลดอัตราการเติบโตการใช้พลังงานลงจากเดิม 3% เหลือ 2% เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าปีละกว่า 1 ล้าน 4 แสนล้านบาท ส่วนราคาพลังงานในประเทศจะมีพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดด้านพลังงานทดแทนในแผนพีดีพีใหม่ จะเพิ่มจากเดิม 10% เป็น 25% โดยเริ่มจากโครงการไบโอแก๊ส ซึ่งมีต้นทุนต่ำที่สุด เนื่องจากวัตถุดิบสามารถผลิตได้เองในประเทศ
ขณะเดียวกัน จะพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม การนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง ส่วนพลังงานน้ำมีแนวคิดที่จะพูดคุยกับประเทศพม่า เนื่องจากมีศักยภาพจากเขื่อนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 7,000 เมกะวัตต์ สำหรับแผนพีดีพีฉบับนี้จะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในสัปดาห์หน้า
นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวในการสัมมนา "วิกฤติความเสี่ยงพลังงานกับอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจไทย" ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญวิกฤติพลังงานในประเทศ เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานที่มีมากถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่มีความสามารถในการผลิตพลังงานได้เองแค่ 8.68 แสนบาร์เรลต่อวัน ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งใช้เงินจำนวนมหาศาล โดยมูลค่าของการนำเข้าพลังงานอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี ทำให้เสียโอกาสที่จะนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้านอื่น
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การผลิตพลังงานในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงาน ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งไม่มีแผนสำรวจและลงทุนแหล่งพลังงานสัมปทานใหม่ๆ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้บริหารผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.พร้อมแยกธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติออกมาตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กลางเดือนนี้ แต่ยังเป็นห่วงเรื่องภาษีโอนทรัพย์สินบริษัทใหม่ที่จะแยกออกมาจะมีมูลค่าสูงและกระทบต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ซึ่งต้องรอนโยบายรัฐบาลจะดูแลเรื่องนี้อย่างไรบ้าง