- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 16 March 2017 17:45
- Hits: 12121
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มหลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ลด
+ ราคาน้ำมันดิบกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ประกาศปริมาณน้ำมันดิบคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 237,000 บาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มถึง 3.7 ล้านบาร์เรล สาเหตุหลักเกิดการนำเข้าน้ำมันที่ลดลงราว 565,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบต่ำสุดในรอบเดือนที่ 6.69 ล้านบาร์เรล
+ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปเบนซินและดีเซลคงคลังปรับตัวลดลงเช่นกัน มีส่วนช่วยคลายความกังวลในเรื่องอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงช่วงไตรมาสสองของปี ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันจะเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุง โดยคาดหวังว่าน้ำมันดิบจะถูกนำมาใช้ผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูปในระดับที่สมดุล
+ แม้ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโดยภาพรวมของโลกปรับเพิ่มเป็นครั้งแรกในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา แต่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าหากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือน มิ.ย. อุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
+ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 25 Basis Point หรือปรับจากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1 หลังเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า FED จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยรวมสองครั้งในปีนี้ (2560) และอีกสามครั้งในปีถัดไป (2561) โดยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในขณะนี้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 2 และการลงทุนในธุรกิจต่างๆ โดยภาพรวมยังคงแข็งแกร่ง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการนำเข้าน้ำมันเบนซินที่ลดลงร้อยละ 17 ในเดือนมีนาคมของประเทศอินโดนีเซีย ประกอบกับการส่งออกน้ำมันเบนซินที่มากขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในภูมิภาคเอชียเหนือ ประกอบกับมีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากประเทศมาเลเซีย ศรีลังกา และเวียดนาม
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมในวันที่ 17 มี.ค. นี้ เพื่อติดตามผลการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก รวมถึงติดตามตัวเลขปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่ากลุ่มโอเปกจะสามารถปรับลดกำลังการผลิตในเดือนก.พ. ได้มากกว่าในเดือนม.ค. หลังรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของคูเวต เผยว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกได้ปรับลดกำลังการผลิตลงราว 140% ของข้อตกลงที่จะปรับลดราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าที่กลุ่มโอเปกได้ปรับลดในเดือนม.ค. ที่ 93% ของข้อตกลง
จับตาการปรับลดกำลังการผลิตของรัสเซีย หลังรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย เผยว่ารัสเซียสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ราว 50% ของข้อตกลง หรือราว 150,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะปรับลดการผลิตลงราว 200,000 บาร์เรลต่อวันภายในเดือนมี.ค. และปรับลดได้ตามข้อตกลง หรือ 300,000 บาร์เรลต่อวันภายในเดือนเม.ย.