- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 09 August 2014 12:24
- Hits: 2688
ภาครัฐ-เอกชนชี้ไทยเสี่ยงเผชิญวิกฤตพลังงานหากไม่เร่งหาแหล่งสำรองเพิ่ม
นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวในการสัมมนา"วิกฤติความเสี่ยงพลังงาน กับอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจไทย”ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญวิกฤตพลังงานในประเทศ เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานที่มีมากถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่มีความสามารถในการผลิตพลังงานได้เองแค่ 8.68 แสนบาร์เรลต่อวัน ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งใช้เงินจำนวนมหาศาล โดยมูลค่าของการนำเข้าพลังงานอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี ทำให้เสียโอกาสที่จะนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้านอื่น
"ถ้าไม่นำเข้าพลังงานมากมายขนาดนี้ ก็ไม่ต้องใช้เงินไปจ่ายให้ต่างประเทศมาก และเงินที่ใช้ไปในส่วนนี้จะได้นำไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งดีต่อการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ" นายคุรุจิต กล่าว
นอกจากนี้ แหล่งพลังงานสำรองในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยปัจจุบันไม่ได้มีการสำรวจแหล่งพลังงายแห่งใหม่เพื่อทดแทนแหล่งพลังงานเก่าที่เริ่มมีปริมาณสำรองลดน้อยลง ทำให้จำเป็นต้องพึ่งแหล่งพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าและลาว เพื่อนำมาใช้ตอบสนองการใช้พลังงานของประชากรในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมีแนวโน้มของต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจะเห็นได้จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเข้ามาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่เริ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้มาอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย จากในปี 49 อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ต่ำกว่า 3 บาท/หน่วย ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่อัตราค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นอีกจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ในประเทศมีการผลิตพลังงานลดลง โดยค่าภาคหลวงปิโตรเลียมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติใน 6 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 4.21 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ราคาปิโตรเลียมสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตลดลง และประเทศไทยยังไม่มีการลงทุนและสำรวจแหล่งพลังงานสำรองอื่นๆ เพิ่มเติม โดยพึ่งพิงต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลต่อการแข่งขันด้านการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศ
"พลังงานมีผลกระทบโดยตรงต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและเศรฐกิจของของประเทศ ราคาพลังงานของเราสูงขึ้นๆ ทุกปี เราไม่ได้มีการสำรวจและลงทุนเพิ่ม เราพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า ทำให้เรามีปัญหา ทางที่ดีเราควรมีการสำรวจแหล่งพลังงานใหม่เพื่อมาทดแทนแหล่งเก่าที่จะหมดลง และทำให้รักษาระดับของการผลิตไม่ให้ลดลงจากเดิม" นายคุรุจิต กล่าว
ขณะที่ นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การผลิตพลังงานในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงาน ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งไม่มีแผนสำรวจและลงทุนแหล่งพลังงานสัมปทานใหม่ๆ
"ไทยไม่มีแผนสำรวจและลงทุนแหล่งสัมปทานแหล่งใหม่มานานพอสมควร แหล่งเก่าๆที่อยู่มานานก็ใกล้จะหมดสัมปทานแล้ว ทำให้การผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ แต่การตัดสินใจพัฒนาแหล่งใหม่นั้นต้องมีการวางแผนซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานราว 8-10 ปี อย่างแหล่งอุบลก็ใช้ระยะเวลาในการพัฒนา 10 กว่าปี ตอนนี้ก็ยังผลิตในเชิงพาณิชย์ไม่ได้" นายไพโรจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ต้นทุนของพลังงานในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว อีกทั้งการพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้นทุนอยู่ระดับสูงส่งผลกระทบในเชิงลบต่อศักยภาพของการผลิตของประเทศ
"ต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตราคานำเข้าพลังงานจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน 2-3 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศเราก็นำเข้าพลังงานกันอยู่แล้ว ผลก็คือมันจะไปกระทบกับภาคการผลิตและศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เมื่อต้นทุนเราสูงราคาขายก็สูงตามไปด้วย"นายไพโรจน์ กล่าว
อินโฟเควสท์