- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 15 March 2017 23:56
- Hits: 13434
ราคาน้ำมันดิบลด หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกในเดือน ม.ค. ยังปรับเพิ่มขึ้น
- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Crude Oil Inventories) ในเดือน ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับ 278 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำมันดิบทางผู้ผลิตฝั่งสหรัฐฯ และนอกกลุ่มโอเปกที่ปรับเพิ่มขึ้น
- นอกจากนี้ตลาดกังวล หลังซาอุดิอาระเบียเปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 263,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10.011 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. สวนทางกับรายงานประจำเดือนของโอเปกที่รายงานปริมาณการผลิตปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 9.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- โอเปกคาดปริมาณน้ำมันดิบนอกกลุ่มโอเปกในปี 2560 จะปรับเพิ่มขึ้นราว 400,000 บาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า โดยปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นราว 340,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นราว 100,000 บาร์เรลต่อวันจากรายงานเดือนก่อนหน้า
+ อย่างไรก็ดี โอเปกได้ปรับคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบทั่วโลกใน 2560 ขึ้น โดยความต้องการน้ำมันดิบจากทางฝั่งโอเปก (Call on OPEC) จะอยู่ที่ราว 32.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยยังคาดหวังว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ล้นตลาดคาดจะกลับสู่สมดุลในช่วงครึ่งปีหลัง
+ จับตาการประชุมในวันที่ 17 มี.ค. เพื่อติดตามผลการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก โดยทางซาอุดิอาระเบียและคูเวตมีท่าทีที่จะร่วมมือในการยืดเวลาการกำหนดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบออกไป เพื่อให้ตลาดกลับสู่ระดับสมดุลและคงราคาน้ำมันดิบไม่ให้ลดต่ำลง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดีตลาดยังได้รับการสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ เพื่อสำรองไว้สำหรับฤดูกาลขับขี่ที่จะมาถึง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย เนื่องจากแรงกดดันของอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ความต้องการใช้ในศรีลังกา มาเลเซียและเวียดนามยังคงช่วยสนับสนุนตลาดอยู่
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมในวันที่ 17 มี.ค. นี้ เพื่อติดตามผลการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก รวมถึงติดตามตัวเลขปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่ากลุ่มโอเปกจะสามารถปรับลดกำลังการผลิตในเดือนก.พ. ได้มากกว่าในเดือนม.ค. หลังรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของคูเวต เผยว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกได้ปรับลดกำลังการผลิตลงราว 140% ของข้อตกลงที่จะปรับลดราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าที่กลุ่มโอเปกได้ปรับลดในเดือนม.ค. ที่ 93% ของข้อตกลง
จับตาการปรับลดกำลังการผลิตของรัสเซีย หลังรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย เผยว่ารัสเซียสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ราว 50% ของข้อตกลง หรือราว 150,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะปรับลดการผลิตลงราว 200,000 บาร์เรลต่อวันภายในเดือนมี.ค. และปรับลดได้ตามข้อตกลง หรือ 300,000 บาร์เรลต่อวันภายในเดือนเม.ย.