- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 02 March 2017 21:14
- Hits: 11146
ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- ราคาน้ำมันดิบปรับลดหลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สร้างความเป็นกังวลว่าการเติบโตของความต้องการอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดกลับเข้าสู่สมดุลได้
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 ก.พ. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่แปด ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคล้งสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดที่ 520.2 ล้านบาร์เรล
+ ผลสำรวจจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตในเดือน ก.พ. โดยผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกได้ให้ความร่วมมือถึงร้อยละ 94 หรือคิดเป็นการปรับลดลง 1.098 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปริมาณการผลิตเดือน ต.ค. 59
- ขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก เช่น รัสเซีย ที่ปรับลดกำลังการผลิตในเดือน ก.พ. ลงเพียง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากที่เคยตกลงไว้ว่าจะปรับลดลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตในเดือน ต.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัสเซียให้ความร่วมมือเพียงร้อยละ 33 อย่างไรก็ตาม การปรับลดลงดังกล่าว สอดคล้องกับที่นายโนวัค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรัสเซีย กล่าวไว้ว่ารัสเซียจะค่อยๆปรับลดกำลังการผลิตลง และคาดว่าจะเดินหน้าปรับลดมากขึ้นและแตะระดับ 300,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย.
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลัง แตะระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น โดยกำลังการผลิตประมาณร้อยละ 5-6 จะหยุดดำเนินการผลิตในช่วงเดือน มี.ค. และ เม.ย.
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดว่าจะปรับลดลง เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ผลิตจะทำตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต หลังนายโมฮัมเหม็ด บาร์คินโด เลขาธิการกลุ่มโอเปก เผยว่าผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มจะให้ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ แหล่งข่าวของโอเปกยังเผยอีกว่า ล่าสุดผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกทั้ง 11 ประเทศให้ความร่วมมือลดกำลังลงราว 60% ของข้อตกลง
ข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตยังมีความเสี่ยงจากกำลังการผลิตของอิหร่านที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากอิหร่านเร่งผลิตน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดหลังได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดนาย Ali Kardor ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (NIOC) กล่าวว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านจะปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือนเม.ย. 60 และมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตไปสู่ระดับ 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในอีก 5 ปีข้างหน้า
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น หลัง EIA คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นราว 0.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 8.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับการผลิตในเดือนก.พ. และจะขยับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 9.28 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนธ.ค. 60