- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 28 February 2017 09:17
- Hits: 7870
กกพ.แย้มค่าไฟปีนี้มีแนวโน้มขยับขึ้นตามราคาก๊าซ-ค่าเอฟที เผยปีนี้จะทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน 1,259 MW
กกพ.แย้มค่าไฟปีนี้มีแนวโน้มขยับขึ้นตามราคาก๊าซ -ค่าเอฟที หลังโรงไฟฟ้าหลายแห่งยังค้างท่อทำเงินอุดหนุนปรับสูงขึ้น เผยปีนี้จะทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ตั้งเป้าหมายมีปริมาณรวม 1,259 MW วงเงินลงทุนโครงการละประมาณ 50-80 ลบ./MW
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ โฆษก กกพ.กล่าวว่า ทิศทางอัตราค่าไฟฟ้าปีนี้มีแนวโน้มขยับขึ้น ตามสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน รวมถึงการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 23 สตางค์/หน่วย จากปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 21 สตางค์/หน่วย
ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการส่งเสริมพลังงานทดแทนตามนโยบาย และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ค้างท่อจากปีที่แล้วเข้าระบบจำนวนมาก เงินอุดหนุนจึงปรับสูงขึ้น ประกอบกับ กกพ. กำลังพิจารณาปรับอัตราค่าบริการส่งทางท่อก๊าซหลังไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2552 จึงเป็นส่วนหนึ่งทำให้ต้นทุนราคาปรับสูงขึ้นแต่ไม่มากนัก
นอกจากนี้ กกพ. ยังรอความชัดเจนจากกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับโครงการที่จะเปิดรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 130 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้มีโครงการริเริ่มส่งผลสำเร็จเร็ว 78 เมกะวัตต์ ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดพื้นที่ 8 โครงการ แต่ติดขัดข้อกฎหมายใหม่ตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบที่เพิ่งมีผลออกบังคับใช้ หากยังไม่มีความชัดเจนก็เป็นไปได้ที่ต้องประกาศเลื่อนระยะเวลาเปิดสมัครรับซื้อไฟออกไปอย่างไม่มีกำหนดจากวันที่ 1-2 มีนาคม 2560 นี้
นายวีระพล กล่าวว่า กกพ.ยังมีโครงการเตรียมรับซื้อไฟฟ้าใหม่ในโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตร-ราชการ 519 เมกะวัตต์ โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กแบบ SPP Hybrid Firm และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi-Firm รวม 568 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 42 เมกะวัตต์
“ปีนี้จะทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ตั้งเป้าหมายมีปริมาณรวม 1,259 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดทยอยเสร็จตั้งแต่ปี 2561-2563 วงเงินลงทุนโครงการละประมาณ 50-80 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และหากโครงการพลังงานลมอื่นเดินหน้าต่อรวมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ เม็ดเงินลงทุนอาจสูงกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละโครงการปรับลดเงินอุดหนุนตามต้นทุนเทคโนโลยีที่ลดลง เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้าของภาคประชาชนมากนัก”นายวีระพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปี 2559 ที่ผ่านมา ภาครัฐมีภาระผูกพันจากการส่งเสริมพลังงานทดแทน 9,265 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้มีการผลิตเข้าระบบแล้ว 6,722 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแต่ยังไม่จ่ายเข้าระบบ 2,076 เมกะวัตต์ และตอบรับซื้อแล้วแต่ยังไม่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟ 467 เมกะวัตต์ ขณะที่ปี 2558 ภาครัฐมีภาระผูกพัน 8,789 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 4,999 เมกะวัตต์ มีลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแต่ยังไม่จ่ายไฟเข้าระบบ 3,332 เมกะวัตต์ และตอบรับซื้อแต่ยังไม่ลงนามซื้อขายไฟฟ้า 467 เมกะวัตต์
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย