- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 27 February 2017 23:46
- Hits: 11288
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง จากความกังวลกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง จากความกังวลกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ รายงานโดย Baker Hughes สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 5 แท่นมาอยู่ที่ 602 แท่น ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และเป็นจำนวนแท่นขุดเจาะที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 58
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เผยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ หลังผู้ค้าน้ำมันเริ่มขายน้ำมันในคลังกักเก็บน้ำมันที่มีต้นทุนสูง เนื่องจากไม่คุ้มค่าในการกักเก็บ ขณะที่กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแตะระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 59
- นาย Frank Klumpp นักวิเคราะห์ของ LBBW ปรับลดการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปี 2560 ลง 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สู่ระดับ 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังกำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น
+ ตัวเลขการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกเฉลี่ยในเดือนม.ค. จากการสำรวจของ Reuters อยู่ที่ระดับ 88% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิรัก มีความมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น หลังทั้งสองประเทศนี้ปรับกำลังการผลิตเพียงเล็กน้อยในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐฯ และในยุโรปปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับ อุปทานที่มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากโรงกลั่นเริ่มเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์จากศรีลังกา นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในสิงคโปร์ และในยุโรปที่ปรับลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดว่าจะปรับลดลง เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ผลิตจะทำตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต หลังนายโมฮัมเหม็ด บาร์คินโด เลขาธิการกลุ่มโอเปก เผยว่าผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มจะให้ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ แหล่งข่าวของโอเปกยังเผยอีกว่า ล่าสุดผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกทั้ง 11 ประเทศให้ความร่วมมือลดกำลังลงราว 60% ของข้อตกลง
ข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตยังมีความเสี่ยงจากกำลังการผลิตของอิหร่านที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากอิหร่านเร่งผลิตน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดหลังได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดนาย Ali Kardor ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (NIOC) กล่าวว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านจะปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือนเม.ย. 60 และมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตไปสู่ระดับ 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในอีก 5 ปีข้างหน้า
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น หลัง EIA คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นราว 0.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 8.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับการผลิตในเดือนก.พ. และจะขยับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 9.28 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนธ.ค. 60