- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 21 February 2017 08:25
- Hits: 5122
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 20 - 24 ก.พ. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 13 - 17 ก.พ. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 ก.พ. – 24 ก.พ. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก โดยการประชุมในวันที่ 21-22 ก.พ. ของผู้ผลิตทั้งในและนนอกกลุ่มโอเปกคาดว่าจะ(ตัดคำว่าช่วย ออก)หนุนราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากปริมาณการผลิตของลิเบีย และสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังท่อขนส่งน้ำมันในลิเบียที่เชื่อมกับแหล่งน้ำมันดิบ El Feel และ El Sharara กลับมาดำเนินการอีกครั้ง รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น (ตัดคำว่า ช่วย ออก) กระตุ้นการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในสหรัฐฯ ให้ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น จากการที่โรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 21 – 22 ก.พ. เกี่ยวกับข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดี หลังรายงานประจำเดือน ก.พ. 2560 ของโอเปก เปิดเผยว่าประเทศผู้ผลิตกลุ่มโอเปก ทั้ง 11 ประเทศไม่รวม ลิเบีย ไนจีเรีย และอินโดนีเซีย ปรับลดปริมาณการผลิตในเดือนม.ค. 2560 ลงราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 29.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มโอเปกสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ราว 93% ของข้อตกลง สูงกว่าการปรับลดกำลังการผลิตในอดีตที่ปรับลดได้เพียง 60% ของข้อตกลง ในเดือนแรกที่ข้อตกลงบังคับใช้
กำลังการผลิตของลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังแหล่งน้ำมันดิบ El Feel กำลังการผลิต 75,000 บาร์เรลต่อวัน จะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียแตะระดับ 7 แสนบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะแตะระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. นอกจากนี้รัฐบาลลิเบียยังคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตจะอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2561
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานในเดือนมี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นราว 80,000บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตในเดือนก.พ. มาสู่ระดับ 4.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิต Permian ราว 70,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิต Eagle Ford ยังปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปี โดยปรับเพิ่มขึ้นราว 14,000 บาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้โรงกลั่นมีความต้องการใช้น้ำมันดิบลดลง โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 10 ก.พ. 2560 ปรับเพิ่มขึ้นราว 9.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ มาสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2525 ที่ 518.1 ล้านบาร์เรล
ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับสูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล หลังได้รับอานิสงค์จากความร่วมมือของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่จะปรับลดกำลังการผลิต โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 6 แท่น มาอยู่ที่ 597 แท่น
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 ก.พ. – 17 ก.พ. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 53.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.89 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 55.81 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 54 เหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ใกล้เคียงกับข้อตกลง ซึ่งปรับลดลงราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่ตกลงว่าจะปรับลดลงราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ราว 3 เท่า นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ยังปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่นักเคราะห์คาดการณ์ไว้ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินอ่อนตัวลงราวร้อยละ 5.3 ประกอบกับ แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันให้กับตลาดน้ำมันดิบ