- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 20 February 2017 11:38
- Hits: 4974
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 6-10 ก.พ.60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 13-17 ก.พ.60
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบปรับลดลงทุกชนิดโดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปผันผวนโดย น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
ศาลชั้นต้นของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (U.S. District Court) สาขากรุงวอชิงตันปฏิเสธคำร้องของชนเผ่า Standing Rock Sioux และ Cheyenne River Sioux ที่ต้องการให้ยุติโครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบ Dakota Access Pipeline (470,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Energy Transfer Partners โดยอ้างว่ากระทบต่อวิถีชีวิตชนเผ่า ทั้งนี้ สัปดาห์ก่อน U.S. Army Corps of Engineers อนุมัติให้ผู้รับเหมาเริ่มการก่อสร้าง หลังประธานาธิบดี Donald Trump ลงนามอนุมัติโครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบ Dakota Access PipelineBaker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น มาอยู่ที่ 591 แท่น สูงสุดตั้งแต่ ต.ค. 58 Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 13.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 508.6 ล้านบาร์เรล สูงกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.5 ล้านบาร์เรล EIA ปรับคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 8.89 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
รายงานฉบับเดือน ก.พ. 60 ของ OPEC ระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 890,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 32.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าเพดานการผลิต 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ OPEC คาดการณ์ว่าปีนี้โลกจะต้องการน้ำมันดิบของกลุ่ม (Call-on-OPEC) เฉลี่ย 32.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น หาก OPEC ผลิตที่ตัวเลขเดือน ม.ค. 60 อย่างต่อเนื่อง อุปสงค์อุปทานจะปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุลความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศอิหร่านกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นหลังอิหร่านทดสอบยิงขีปนาวุธ ส่งผลให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ แถลงคว่ำบาตร 13 บุคคลและ 12 นิติบุคคล ครั้งใหม่เพื่อมิให้ทำธุรกรรมกับระบบการเงินของสหรัฐฯ หรือทำการค้ากับบริษัทสหรัฐฯ มิฉะนั้นจะถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเป็นผู้เกี่ยวข้องกับ Revolutionary Guard (กองกำลังพิทักษ์ผู้นำสูงสุด Ayatollah Ali Khamenei)
Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอนและ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.พ.60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 23,397 สัญญา มาอยู่ที่ 388,983 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ลดลงจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ทะยานขึ้นแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์หลังนักลงทุนคาดหมายว่าประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายลดภาษีบริษัทภายในประเทศ และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบตลอดสัปดาห์ เนื่องจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาง Janet Yellen มีนัดให้การต่อคณะกรรมาธิการด้านธนาคารของวุฒิสภาวันนี้ และต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ ซึ่งตลาดเชื่อว่าอาจมีการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้ตามที่ตลาดเคยคาดการณ์เอาไว้ ประกอบกับด้านปัจจัยพื้นฐาน จำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 4 สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้น 17 แท่น มากที่สุดในรอบ 5 ปี บ่งชี้ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับที่ EIA ประเมินว่าการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 60 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 4.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 5 เดือน
ความกังวลดังกล่าวของนักลงทุนเห็นได้ชัดจากกลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะถือครองสุทธิสัญญาน้ำมันดิบทั้ง WTI และ Brent ลง แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่สำคัญเช่นการลดการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในปริมาณที่มากกว่าข้อตกลง ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.5-57.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ระหว่าง 55-57.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 53-56 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจากข่าว Platts รายงานโรงกลั่น Balongan (125,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Pertamina จะกลับมาดำเนินการวันที่ 23 ก.พ. 60 หลังปิดซ่อมบำรุงนานกว่า 1 เดือน ทั้งนี้ปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับสูง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.16 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.30 ล้านบาร์เรล ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน และ Fujairah Energy Data Committee รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.33 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 6.35 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของจีนในปี พ.ศ. 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.6% มาอยู่ที่ 2.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ในไต้หวันมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน Mailiao (540,000 บาร์เรลต่อวัน) เริ่มต้นกลางเดือน มี.ค. ถึงกลางเดือน เม.ย. 60 ประกอบกับ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.พ. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 290,000 อยู่ที่ 10.47 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงาน Ceypetco ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05%S ปริมาณรวม 900,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 21 - 22 ก.พ. 60 และ PSO ของปากีสถานออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณรวม 830,000 บาร์เรล ส่งมอบ มี.ค. 60 อย่างไรก็ตาม บริษัท CNPC ของจีนระบุในรายงานประจำปีของบริษัทคาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล ปี พ.ศ. 2560 ของจีน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% อยู่ที่ระดับ 3.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประเมินว่าโรงกลั่นจีนจะกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.3 % ที่ระดับ 11.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเพิ่มขึ้นโดย IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.52 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.41 ล้านบาร์เรล ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้น 40,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.39 ล้านบาร์เรล อีกทั้ง Fujairah Data Committee เผยปริมาณสำรอง Middle Distillates ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8.5% มาอยู่ที่ระดับ 4.75 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล