- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 07 August 2014 22:43
- Hits: 2714
ปิยสวัสดิ์ เสนอ คสช.แก้ปัญหาพลังงานหมุนเวียนเน้นเปิดเสรี-แข่งขันราคา
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) ได้จัดทำ“ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย"เพื่อเสนอต่อ คสช และกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย 6 ข้อเสนอหลัก ได้แก่
1.การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน เช่น แก้ไขมาตรา 48 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้ กกพ. ออกใบอนุญาตได้โดยไม่ต้องขอความเห็นจากหน่วยงานอื่น แก้ไขนิยามของโรงงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงาน โดยให้ยกเว้นระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน ให้โรงไฟฟ้าขยะที่มูลค่าเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ และให้ยกเลิกคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ เพื่อกำจัดช่องทางในการเรียกผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจและสร้างความโปร่งใส
2.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน โดยดำเนินการให้การอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าในรูปแบบ One Stop Service ออกใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าให้แก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ พพ. จำนวน 23 โครงการ ประสานงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายอย่างใกล้ชิดในการกำกับดูแล ลดขั้นตอนในการติดต่อและใช้ระบบส่งข้อมูลแบบ Online รวมทั้งการพัฒนาข้อมูลศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่ทันสมัยและแสดงข้อมูลเรื่องข้อจำกัดของระบบส่งไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูล ให้กับผู้ประกอบการทราบก่อนการตัดสินใจลงทุน
3.การกำหนดมาตรการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจน อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มีเป้าหมายระยะยาวให้กิจการด้านพลังงานหมุนเวียนดำเนินการได้ โดยไม่มีการอุดหนุนหรืออุดหนุนน้อยที่สุด ใช้ระบบการแข่งขันด้านราคาและหลีกเลี่ยงการให้โควต้าการผลิต ควรแยกกิจการระบบผลิตไฟฟ้าออกจากกิจการระบบส่งไฟฟ้า พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าแบบ Smart Grid และกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของแผน PDP
4.การส่งเสริมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดย1) เร่งดำเนินการโครงการ SPP/VSPP ที่ยังค้างอยู่ ให้มีการเจรจาโดยปรับเงื่อนไขอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้เหมาะสม 2) โครงการ Solar rooftop จำนวน 200 เมกะวัตต์ ให้เปิดเสรีไม่มีการจำกัดโควต้า ขยายกำลังการผลิตติดตั้งได้เกินกว่า 10 กิโลวัตต์ และไม่จำกัดเพียงหลังคาบ้านเท่านั้น สำหรับประเภทบ้านพักอาศัย และโครงการติดตั้งสำหรับใช้เองให้สามารถใช้วิธีหักลบหน่วย(Net metering) และ 3) โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ระดับชุมชน จำนวน 800 เมกะวัตต์ มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการแทนกฟภ. และพิจารณารับซื้อไฟฟ้าโดยกระจายโครงการให้ชุมชนมีส่วนร่วมครอบคลุมทุกภาคของประเทศ โดยใช้รูปแบบ BOT และกำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าโดยใช้วิธีการประมูลแข่งขัน
5.การส่งเสริมโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น ส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับชุมชน เพื่อกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าไปยังชุมชนที่มีศักยภาพ และเพื่อลดกระแสการต่อต้านจากชุมชน อีกทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ให้การสนับสนุนด้านการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศโดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของอุปกรณ์และใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาให้การสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานที่ถูกต้องแก่ประชาชน รวมถึงการกำหนดให้มีการเรียนการสอน เรื่อง ความรู้ด้านพลังงานและพลังงานหมุนเวียนไว้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
6.มาตรการที่จะใช้ในการส่งเสริมโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อาทิ 1) มาตรการเช่าซื้ออุปกรณ์ ผ่านโครงการ ESCO Fund หรือการให้เงินทุนหมุนเวียนผ่านสถาบันการเงิน แก่โครงการ Solar rooftop ประเภทบ้านพักอาศัย โครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เองทั้งในรูปแบบของไฟฟ้าและความร้อน 2) กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เช่น ให้ Investment Subsidy โครงการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่หรือโครงการขนาดเล็ก รวมถึงโครงการ RE ในพื้นที่ห่างไกล
ทั้งนี้ นายปิยสวัสดิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 และ มพส. ได้นำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยเสนอต่อพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. และกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 เพื่อนำไปประกอบในการพิจารณากำหนดนโยบายการปฏิรูปพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
อินโฟเควสท์