- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 09 February 2017 09:36
- Hits: 3526
ราคาน้ำมันดิบลดลงมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงกว่าร้อยละ 1 หลังสถาบันปิโตรเลียมพลังงานสหรัฐฯ (API) ออกมาเปิดเผยว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 14.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มเพียง 2.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงรอคอยการเปิดเผยตัวเลขจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งหาก EIA ยืนยันว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจริงจะนับว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคมของปี 2559
- ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นถึง 21 ล้านบาร์เรลใน 27 วันแรกของปี 2560 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 257 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 พบว่าปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นเพียง 12 ล้านบาร์เรลเท่านั้น
- นอกจากนี้ รอยเตอร์รายงานตัวเลขความต้องการใช้น้ำมันในประเทศจีนประจำปี 2559 เติบโตต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี โดยเติบโตเพียงร้อยละ 2.5 ลดลงจากร้อยละ 3.1 และ 3.8 ในปี 2558 และ 2557 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตเพียงร้อยละ 6.7 นับเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 26 ปี ซึ่งคาดว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในประเทศหดตัวกว่าร้อยละ 5 และความต้องการใช้น้ำมันเบนซินเติบโตชะลอลงจากปี 2558
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ภายในภูมิภาคเอเชียอ่อนตัวลง ประกอบกับอุปทานจากประเทศอินเดียที่ยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลัง ณ ประเทศสิงคโปร์จะปรับตัวลดลงเล็กน้อยก็ตาม
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยความต้องการซื้อที่ฟื้นตัวขึ้นมาจากประเทศศรีลังกา ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศปากีสถาน
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล??
ปัจจัยที่่น่าจับตามอง
การปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังผลสำรวจของ Reuters รายงานปริมาณการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในเดือน ม.ค. 60 ปรับลดลงราว 0.958 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 82% เมื่อเทียบกับข้อตกลงปรับลดลงกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับว่าเป็นการปรับลดมากกว่าในอดีตที่สามารถปรับลดได้เพียง 60% ในปี 2552 ในขณะที่ ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกรายใหญ่อย่างรัสเซียปรับลดกำลังการผลิตลงราว 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนม.ค. 60 เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตในเดือน ธ.ค. 59 มาสู่ระดับ 11.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน
จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และ อิหร่านที่อาจช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบ หลังอิหร่านออกมายืนยันว่าได้ทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุด หลังนายโดนัล ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางกับที่นายโดนัล ทรัมป์ได้กล่าวไว้ในช่วงหาเสียง ว่าจะต่อต้านกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธของอิหร่าน นอกจากนี้ อิหร่านยังยืนยันว่าการทดสอบขีปนาวุธนั้นเป็นไปตามแผนของประเทศ และจะไม่ยอมให้ต่างชาติมาแทรกแซง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากปริมาณการนำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับโรงกลั่นภายในประเทศปรับลดอัตราการกลั่น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 27 ม.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้นราว 6.47 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 494 ล้านบาร์เรล