WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL16ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 6-10 ก.พ.60 และสรุปสถานการณ์ฯ 30 ม.ค.- 3 ก.พ. 60

              

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 ก.พ. – 10 ก.พ. 60)

      ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งล่าสุดกลุ่มโอเปกสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ประมาณ 82% ของข้อตกลงลดกำลังการผลิต นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน หลังอิหร่านทดสอบขีปนาวุธ ประกอบกับ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุด นับตั้งแต่กลางเดือนพ.ย. 59 อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบแตะระดับ 583 แท่น

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

      การปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานปริมาณการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในเดือน ม.ค. 60 ปรับลดลงราว 958,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งหมายความว่าผู้ผลิตกลุ่มโอเปกสามารถทำตามข้อตกลงได้ประมาณ 82% เมื่อเทียบกับข้อตกลงปรับลดลงกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับว่าเป็นการปรับลดมากกว่าในอดีตที่สามารถปรับลดได้เพียง 60% ในปี 2552 ในขณะที่ ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกรายใหญ่อย่างรัสเซียปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1 แสนบาร์เรลต่อวัน ในเดือนม.ค. 60 เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตในเดือน ธ.ค. 59 มาสู่ระดับ 11.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน

       จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และ อิหร่านที่อาจหนุนราคาน้ำมันดิบ หลังอิหร่านออกมายืนยันว่าได้ทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุด หลังนายโดนัล ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางกับที่นายโดนัล ทรัมป์ได้กล่าวไว้ในช่วงหาเสียง ว่าจะต่อต้านกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธของอิหร่าน นอกจากนี้ อิหร่านยังยืนยันว่าการทดสอบขีปนาวุธนั้นเป็นไปตามแผนของประเทศ และจะไม่ยอมให้ต่างชาติมาแทรกแซง

        ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงต่อเนื่องแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนพ.ย. 59 หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่ได้ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งถัดไป นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการกีดกันทางการค้าและนโยบานต่อต้านผู้อพยพของนายโดนัล ทรัมป์

      ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากปริมาณการนำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับโรงกลั่นภายในประเทศปรับลดอัตราการกลั่น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 27 ม.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้นราว 6.47 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 494 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 3.87 ล้านบาร์เรล และ 1.57 ล้านบาร์เรลตามลำดับ

        ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก ราคาในปัจจุบันสามารถกระตุ้นให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ กลับมาผลิตเพิ่มขึ้น โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.พ. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 17 แท่น มาอยู่ที่ 583 แท่น สร้างแรงกดดันให้กับราคาน้ำมันดิบ

               ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ม.ค. -3 ก.พ. 60)

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 53.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.29 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 56.81 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 54 เหรียญสหรัฐฯ หลังได้รับแรงหนุนจากข่าวการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกที่ได้ทำการปรับลดกำลังการผลิตไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ในเดือน ม.ค. 2560 ซึ่งสูงกว่าสถิติการปรับลดในปี 2552 ที่ปรับลดลงราวร้อยละ 60 นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากความกังวลว่าสหรัฐฯ จะมีการออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมหรือไม่ หลังอิหร่านดำเนินการทดสอบขีปนาวุธในประเทศ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!