- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 06 August 2014 23:41
- Hits: 2435
เบรนท์และเวสต์เท็กซัส ปรับตัวลดลง จากความกังวลด้านอุปทานล้นตลาดในยุโรปและอเมริกาเหนือ
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลเรื่องอุปทานล้นตลาดจากยุโรปและอเมริกาเหนือ ประกอบกับความต้องการยังคงมีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ดีสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ยังคงเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันดิบไม่ให้ลดลงไปมากนัก
- ปริมาณการส่งออกน้ำมันเดือน ก.ค. ของอิรักปรับตัวเพิ่มจาก 2.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 2.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถึงแม้ว่าการส่งออกจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Kirkuk ยังคงไม่สามารถส่งออกได้ก็ตาม
- ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ เดือน ก.ค. ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 60.8 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ที่ระดับ 61
+ ยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย. ปรับตัวขึ้น 1.1% ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบสามเดือน
+ สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ วันที่ 1 ส.ค. 2557 ว่าปรับลดลง 5.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 363.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังปรับลดลง 3.6 และ 0.54 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ
+ กำลังการผลิตน้ำมันของประเทศลิเบียปรับลดลงจาก 5 แสนบาร์เรลต่อวัน เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 4.5 แสนบาร์เรล นอกจากนี้หลุมผลิตน้ำมันยังคงปลอดภัย แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ปะทะกันที่เมืองทริโปลีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานปรับเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในประเทศไต้หวัน เกาหลี และอินเดียกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง นอกจากนี้ความต้องการในภูมิภาคยังคงเบาบาง อีกทั้งโอกาสในการขนย้ายน้ำมันเบนซินออกนอกภูมิภาคค่อนข้างจำกัด เนื่องจากความต้องการในยุโรปและสหรัฐฯค่อนข้างเบาบางเช่นกัน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้น หลังฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงสิ้นสุดลง นอกจากนี้ยังคาดว่าเวียดนามจะนำเข้าน้ำมันดีเซลน้อยลง เนื่องจากความต้องการภายในประเทศลดลง หลังเศรษฐกิจชะลอตัว
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 96-103 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 103-109 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินบริเวณทะเลเหนือและแอฟริกา ท่ามกลางความต้องการใช้น้ำมันดิบจากโรงกลั่นที่ซบเซาทั้งในยุโรปและเอเชีย อันเป็นผลมาจากค่าการกลั่นที่ตกต่ำ
เหตุการณ์ความตึงเครียดในอิรักและรัสเซีย ที่ยังคงไม่ได้กระทบต่อความสามารถในการส่งออกน้ำมันดิบของทั้งสองประเทศ โดยล่าสุดอิรักยังคงสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ตามแผนที่ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียยังไม่ทำให้การส่งออกน้ำมันดิบปรับลดลงแต่อย่างใด
ติดตามรายงานประจำเดือนของ OPEC ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ ว่าจะมีมุมมองต่ออุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบโลกอย่างไร ภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจของผู้ใช้น้ำมันดิบหลักโลกอย่างสหรัฐฯ และจีนออกมาดีกว่าคาด ส่อเค้าว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
เสถียรภาพของกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากลิเบีย ภายหลังการกลับมาดำเนินการของท่าเรือขนส่งและหลุมน้ำมันดิบ ทำให้กำลังการผลิตในเดือน ก.ค. ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 430,000 บาร์เรล จากราว 210,000 บาร์เรลในเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางความวิตกกังวลถึงความเป็นไปได้ที่กลุ่มกบฏจะกลับเข้าขัดขวางการผลิตน้ำมันดิบอีก เหมือนเช่นที่เคยเป็นมา]
การปิดซ่อมบำรุงหลุมน้ำมันดิบ Buzzard ที่ทะเลเหนือเป็นเวลาสองสัปดาห์ในเดือน ส.ค. โดยหลุมน้ำมันดังกล่าวเป็นหลุมน้ำมันดิบที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในทะเลเหนือ โดยคาดว่าการปิดซ่อมดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบที่จะส่งออกลดลงประมาณ 24%