- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 29 January 2017 16:03
- Hits: 2637
เทรนด์พลังงานไฮบริด รถพลังงานไฟฟ้า มาแรง SETA 2017 จัดต่อเนื่องปีที่ 2 ภายใต้ธีม ‘Towards A Low-Carbon Society’
กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคม และ กระทรวงอุตสาหกรรม จัดประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560’ หรือ ‘SETA 2017’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้ธีม ‘Towards A Low-Carbon Society’ใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ นโยบายและการวางแผนด้านพลังงาน เทคโนโลยีระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำ พลังงานเพื่อการคมนาคมขนส่งเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำ และ เมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อผลักดันและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เน้นเทรนด์อุตสาหกรรมไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ภารกิจหลักของกระทรวงพลังงาน คือ การบริหารพลังงานให้ประชาชน มีใช้อย่างมั่นคง ในราคาที่เป็นธรรม ในปีที่ผ่านมาเราก็ได้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญๆ อาทิ การลอยตัว NGV การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ผลักดันให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เสริมประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงานด้วยมาตรการทางการเงินต่างๆ ในปีนี้ กระทรวงพลังงานจะมุ่งเน้น นโยบายด้าน Energy 4.0 เช่น การขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า EV การเพิ่มสถานีชาร์จ Smart City ระบบการจัดเก็บพลังงาน Energy Storage และการส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ SPP Hybrid Firm และ VSPP ชุมชน เวทีงาน SETA 2017 นี้ กระทรวงพลังงานจะได้มีโอกาสชี้แจง และส่งสัญญาด้านนโยบายที่สำคัญๆดังกล่าวต่อนักลงทุน และผู้สัมมนาจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เข้าใจในทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศไทย ในส่วนของนิทรรศการ ทางผู้จัดก็ได้เตรียมเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า EV และการจำลองสถานการณ์สถานีชาร์จ เพื่อให้ผู้สนใจได้ชมและเรียนรู้”
รศ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ในงาน SETA 2017 ปีนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการจัดแสดงเทคโนโลยี สะท้อนความมุ่งมั่นคิดค้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน อีกทั้งกำกับ ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานในสังกัด รวมทั้งสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดี จัดสรรและบริหารทรัพยากรของกระทรวงให้เกิดความประหยัด คุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย เสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมทั้งการบริหารจัดการด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ตามมาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยแบ่งเป็น งานกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี กำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และด้านการสนับสนุนการกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู”
นางสาวกอบกุล โมทนา ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change : UNFCC) ว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี 2020 (พ.ศ.2563) ให้ได้ร้อยละ 20-25 โดยสัดส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการขนส่งจะอยู่ที่ร้อยละ 7.8 หรือ 41 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เนื่องจากภาคการขนส่งมีสัดส่วนการใช้พลังงานแยกตามรายสาขาเป็นอันดับ 2 รองจากภาคอุตสาหกรรม งานในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยตื่นตัวและเห็นความสำคัญด้านการจัดการพลังงานและการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในทุกระดับ”
นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจกรรมสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “SETA 2017 ถือเป็นเวทีสำคัญที่จัดขึ้นสำหรับองค์กรต่างประเทศ ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในการอภิปรายและทำงานร่วมกันในการพัฒนานโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแผนยุทธศาสตร์ 2560-2569 ในการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับนโยบายการใช้เชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสมดุลย์การใช้เชื้อเพลิงและควบคุมราคาค่าไฟฟ้าในระยะยาว ด้วย กฟผ.ตระหนักว่า พลังงานหมุนเวียนจะเป็นพลังงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) พ.ศ. 2558-2579 ที่จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ในปี 2579 ในงานครั้งนี้ กฟผ. มีส่วนร่วมในการนำเสนอการดำเนินงานของ กฟผ. ใน 2 ส่วนด้วยกัน คือ การร่วมเป็นผู้บรรยายวิชาการ ในส่วนของ Conference Program และการจัดแสดงนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด Balance Energy and Go Together ซึ่งผู้เยี่ยมชมนิทรรศการจะได้ทราบถึงการดำเนินงานของ กฟผ. ที่สอดคล้องกับนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน ทั้งยังร่วมในข้อผูกพัน COP21 หรือสนธิสัญญาปารีส ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายอีกด้วย”
รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560 กล่าวว่า “งาน SETA 2017 เป็นการจัดงานระดับนานาชาติ โดยในปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากการประสบความสำเร็จในการจัดงานในปีแรกที่ผ่านมา ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในความร่วมมือของหน่วยงานหลักของประเทศ รวมทั้งองค์กรรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน โดยในงานประชุมครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปในประเด็นที่ทั้งเอเชียและทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นด้านแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ ในปีนี้มีการเพิ่มพื้นที่แสดงนิทรรศการอีกเท่าตัว โดยมีความเป็นพิเศษ มุ่งเน้นถึงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีไฮบริด และรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ กว่า 200 บริษัท เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยตั้งเป้าผู้เข้าชมและร่วมงานตลอดทั้ง 3 วัน จำนวนกว่า 10,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก”
ด้านกิจกรรมในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ ‘โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560’หรือ’SETA 2017’ ได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน วิทยากรปาฐกถาหลัก ได้แก่ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นาย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดอกเตอร์แมกซิมัส จอนนิตี้ อองกิลิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน น้ำ และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ประเทศมาเลเซีย (Dr. Maximus Johnity Ongkili, Minister of Energy, Green Technology and Water, Malaysia) ฯพณฯ เฆซุส มิเกล ซันส์ เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (H.E. Jes?s Miguel Sanz, Ambassador and Head of Delegation of the European Union in Thailand)
แอคเนตา ไรซิ่ง ผู้อำนวยการใหญ่สมาคมนิวเคลียร์โลก (Ms. Agneta Rising, Director General of World Nuclear Association) ฯพณฯ ชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (H.E. Mr.Shiro Sadoshima, Ambassador of Japan in Thailand), ซูเฮล โมฮัมเหม็ด ฟาราจ อัล มาซโรไน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Suhail Mohamed Faraj Al Mazrouei, UAE minister of energy), ฯพณฯ วิคเตอร์ โจนา ผู้อำนวยการด้านพลังงาน กระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (H.E. Victor Jona, Director General of Energy, General Department for Energy, Ministry of Mines and Energy of Cambodia)
นอกจากนี้ ยังมีการจัดให้มีการบรรยาย ประชุมสัมมนา และเวิร์คช็อปจากองค์กรระดับนานาชาติ และบริษัทที่เป็นผู้นำในหัวข้อต่างๆ อาทิ “CEO Energy Forum’’CLMVT Energy Forum’ Financing in Energy โดย มูดีส์ (Moodys)’Hybrid & EV Technology’ เป็นต้น ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนร่วมงานได้ในเว็บไซต์ www.SETA.Asia
งานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ ‘โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560’ หรือ ‘SETA 2017’จะมีผู้เข้าร่วมงานเป็นผู้บริหาร ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้ผลิต บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ บริษัทผู้ผลิตพลังงานทดแทน ธนาคาร นักลงทุน จากทุกภาคส่วนและผู้สนใจทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ กว่า 10,000 คน พื้นที่จัดงาน 9,600 ตารางเมตร บูธจัดงาน กว่า 200 บูธ โดยมีโซนไฮบริดและเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า โซนโซล่าเซลส์ และโซนระบบเมืองอัฉริยะ จากเมืองโตเกียวและกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงพาวิเลียนจากต่างประเทศ อีก 11 ประเทศ พร้อมกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ อาทิ ประเทศแคนาดา เยอรมัน ไต้หวัน เกาหลี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2560 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ฮอลล์ 103-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
เกี่ยวกับ งานการประชุมและนิทรรศการนานาชาติมหกรรมพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560 หรือ SETA 2017 (Sustainable Energy & Technology Asia 2017)
การประชุมและนิทรรศการนานาชาติมหกรรมพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560 หรือ SETA 2017 (Sustainable Energy & Technology Asia 2017) จะมีขึ้นในวันที่ 8-10 มีนาคม 2560 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยจะได้จัดงานประชุมวิชาการด้านพลังงานในระดับนานาชาติ โดยกระทรวงพลังงานและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้การสนับสนุนผลักดันอย่างเต็มที่ให้งานนี้เกิดขึ้น เพื่อเป็นเวทีแสดงศักยภาพของไทยในการเป็นผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาค และ ยืนยันความพร้อมของไทย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและบุคลากร ในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านพลังงานและการพัฒนาสู่พลังงานที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย
งาน SETA 2017 แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนงานจัดประชุมวิชาการ และส่วนแสดงนิทรรศการกว่า 200 บริษัทชั้นนำจากนานาประเทศ นอกจากนั้น ยังมีการจัดการประชุมคู่ขนาน (Side event) อีกกว่า 10 งาน และการจับคู่ธุรกิจภายในงานอีกด้วย
ส่วนที่ 1 การประชุมทางวิชาการนานาชาติ จะครอบคลุมกว่า 50 หัวข้อ ใน 4 ประเด็นหลัก คือ ด้านนโยบายและแผนพลังงาน ด้านเทคโนโลยีระบบการผลิตไฟฟ้าแบบคาร์บอนต่ำ ด้านระบบการขนส่ง และโลจิสติกส์สีเขียว ด้านสมาร์ทซิตี้ และอุตสาหกรรมสีเขียว
ส่วนที่ 2 การจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งจะมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนผู้ผลิตเทคโนโลยีหลายรายเข้าร่วมแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานที่ทันสมัย ภายให้แนวคิด 'การเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ'ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า การขนส่งและเชื้อเพลิงทางเลือก เทคโนโลยีพลังงานสีเขียว ที่สามารถนำมาทดแทนพลังงานเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และยังมีการแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ผลงานจากกระทรวงพลังงานและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงการจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้าด้านพลังงานของแต่ละประเทศร่วมจัดแสดงภายในงานด้วย
ไฮไลท์เด่นของ SETA 2017
ไฮไลท์หัวข้อสำคัญๆ ที่จะมีการอภิปราย อาทิ
• CEO Energy Forum เวทีที่รวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิระดับรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำในไทย และนานาประเทศ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ นำเสนอทิศทางนโยบาย และระดมความคิดในประเด็นเกี่ยวกับการลดปริมาณคาร์บอนในอากาศ และการพูดคุยในระดับนโยบายเพื่อการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย
• CLMVT Energy Forum เวทีที่รวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิระดับอธิบดี และผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงให้ เพื่ออภิปราย และระดมความคิดในประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงโครงการสมาร์ทกริด (Smart Grid) หรือ ระบบสายส่งอัจฉริยะ เพื่อเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาค
• Financing in Energy Forum เวทีที่รวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิในวงการพลังงาน การเงิน และการลงทุน จากองค์กรชั้นนำนานาประเทศ เพื่ออภิปราย และระดมความคิดในประเด็นเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน รวมถึงการพูดคุยในประเด็นของอุปสรรค์ และโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
• ขับจริง! ชาร์จจริง! กับยานยนต์ไฟฟ้าจากค่ายรถยนต์ชั้นนำ ที่แรกและที่เดียวที่สามารถทดลองขับได้จริง พร้อมทั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่ภายในงาน
• เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานสีเขียวจากกว่า 200 บริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ
• เทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้จาก Panasonic เมืองอัจฉริยะที่มีการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีระบบการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
• สร้างโอกาสทางธุรกิจกับกิจกรรมจับคู่ธุรกิจภายในงาน ที่รวบรวมนักธุรกิจกว่า 500 ท่าน จากกว่า 50 ประเทศ
ไฮไลท์การประชุมกลุ่มคู่ขนานที่สำคัญ อาทิ
- การสัมมนาโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การสัมมนาพิเศษ โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการลงทุน
- การสัมมนาด้านความปลอดภัยและมาตรฐานสิ่งแวดล้อม โดย สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม
- การสัมมนาด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า โดย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า และสถาบันยานยนต์
- การสัมมนาการเตรียมความพร้อมด้านสมาร์ทซิตี้ โดยสถาบันเทคโนโลยีแต่งเอเชีย
- การสัมมนาการส่งเสริมการลงทุน และพลังงานทดแทน โดยศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre for Energy: ACE)
- การสัมมนา การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการผลิตไฟฟ้าจากขยะ จากกลุ่มพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรม
***************************