- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 23 January 2017 23:59
- Hits: 9985
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 23-27 ม.ค. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 16-20 ม.ค. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 – 27 ม.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากข่าวการประชุมติดตามผลการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในวันที่ 21-22 ม.ค. ซึ่งจะทำให้เห็นความชัดเจนมากขึ้นในการทำตามข้อตกลงของผู้ผลิตน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นของลิเบียจากการเปิดดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบที่เชื่อมกับแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara , El Feel และปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันคุ้มที่จะเพิ่มกำลังการผลิต ประกอบกับ จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุน หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาการประชุมเพื่อติดตามผลของการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในวันที่ 21-22 ม.ค. ณ กรุงเวียนนา ซึ่งล่าสุดนายโมฮัมหมัด บาร์คินโด เลขาธิการกลุ่มโอเปก ยังเชื่อมั่นว่ากลุ่มโอเปกจะสามารถปรับลดกำลัง
การผลิตได้ตามที่ประกาศไว้ ในขณะที่นายคาลิด อัล-ฟาลิห์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบียออกมายืนยันที่จะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบตามที่ได้ตกลงไว้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดว่าข้อตกลงของกลุ่มโอเปกจะสามารถผลักดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ตลาดกังวลว่าผู้ผลิตกลุ่มโอเปกอาจผลิตเกินโควต้าที่ได้รับ จากอดีตที่กลุ่มโอเปกสามารถทำตามข้อตกลงได้มากที่สุดเพียง 80% ในปี 2552
โอเปกรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในเดือนธ.ค. ปรับลดลงราว 221,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับเดือนพ.ย. มาอยู่ที่ระดับ 33.085 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งซาอุดิอาระเบียและไนจีเรียเป็นประเทศที่มีการปรับปริมาณการผลิตมากที่สุด ส่งผลให้โอเปกจำเป็นต้องลดปริมาณการผลิตเพียง 585,000 บาร์เรลต่อวันเพื่อทำตามข้อตกลง ซึ่งน้อยกว่าปริมาณที่ต้องปรับลดเมื่อเทียบกับเดือนพ.ย. นอกจากนี้ โอเปกได้ปรับลดคาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกในปี 2560 โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มเพียง 120,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับ 300,000 บาร์เรลต่อวันที่คาดการณ์ไว้ในเดือนก่อนหน้า จากการที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกให้คำมั่นที่จะร่วมมือปรับลดกำลังการผลิต
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากท่อขนส่งน้ำมันดิบที่เชื่อมกับแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara และ El Feel กลับมาดำเนินการอีกครั้งในเดือนธ.ค. โดยล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 693,000 บาร์เรลต่อวัน หลังการปรับลดลงในสัปดาห์ก่อนหน้าซึ่งปรับลดลงมาสู่ระดับ 650,000 บาร์เรลต่อวัน จากการขาดแคลนไฟฟ้าฉุกเฉินและสถานที่กักเก็บน้ำมันที่ท่าเรือไม่เพียงพอ
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 13 ม.ค.60 อยู่ที่ 485.5 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. ราว 41,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 4.748 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบดูไบทรงตัวในระดับสูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ม.ค. 60 รายงานโดย Baker Hughes ปรับตัวเพิ่มขึ้น 29 แท่น มาอยู่ที่ 551 แท่น อย่างไรก็ตาม ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งยังคงมาจากแหล่ง Permian ส่งผลให้ Permian เป็นแหล่งผลิตขนาดใหญ่แหล่งเดียวที่มีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตของยูโรโซนและสหรัฐฯ ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ และ GDP ไตรมาส 4 ปี 2559 ของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 20 ม.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 52.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 55.49 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐฯ จากแรงกดดันของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ (Shale Oil) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ. 60 มาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ประมาณ 4.748 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 18 เดือน นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตและการส่งออกของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ปรับลดลงตามข้อตกลงก่อนหน้านี้