WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL26สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 16-20 ม.ค. 60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 23-27 ม.ค. 60

โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

    สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบทรงตัวและผันผวนเล็กน้อย โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์  (Brent) ลดลง 0.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.04  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูปผันผวนเช่นกัน ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 0.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่

ปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน

·        Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ม.ค. 60  เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 29 แท่น มาอยู่ที่ 551 แท่น เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 4 ปี

·       นาย Ahmed Maiteeg รองนายกรัฐมนตรีลิเบียภายใต้รัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากตามลำดับสหประชาชาติ (UN) เผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลิเบียล่าสุดอยู่ที่  750,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 50,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังบรรลุข้อตกลงยังจากก่อการร้ายเพื่อเปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่ง El Sharara สำเร็จ  และเริ่มขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งข้างต้นไป ฝรั่งเศส เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ในวันที่ 13 ม.ค. 60

·       Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด  13 ม.ค. 60  เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 2.3  ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 485.5  ล้านบาร์เรล

ปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมัน

·        OPEC รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. 59 ลดลง 0.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 33.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากซาอุดีอาระเบียลดปริมาณการผลิต และความขัดแย้งในไนจีเรีย

·        Reuters รายงานข้อมูลการขนส่งน้ำมันดิบจากท่าส่งออกทางตอนใต้ของอิรักในช่วงครึ่งแรกของเดือน ม.ค. 60 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือน ธ.ค. 59  (ที่ส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ขณะที่ปริมาณการส่งออกทางตอนเหนือจากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของอิรักไปยังตุรกี อยู่ที่ 0.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน คงที่จากเดือนก่อนหน้า

·        OPEC คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ผลิตโดย OPEC (Call on OPEC) ในปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่  32.10 ล้านบาร์เรลต่อวัน บ่งชี้ปริมาณการผลิตสูงกว่าการใช้ (Surplus) ลดลงจากระดับ 1.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน  มาอยู่ที่ 985,000 บาร์เรลต่อวัน (หาก OPEC ยังคงผลิตคงที่ในระดับเดือน ธ.ค. 59)

·        Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ในตลาด ICE ที่ลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ม.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 44,481  สัญญา มาอยู่ที่ 371,539  สัญญา สูงสุดตั้งแต่ ก.ค.54

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบช่วงปลายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ นาย Donald Trump เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งกล่าวแสดงความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายการสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานของคนอเมริกันอย่างแท้จริงจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น ทางด้านตลาดน้ำมันการประชุมระหว่างผู้ผลิตกลุ่ม OPEC และNon-OPEC เผยการลดปริมาณการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตเป็นไปตามที่คาดโดย รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย นาย Kahlid Al-Falih เผยผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ลดปริมาณการผลิตรวมกันอยู่ที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ในเดือน ม.ค. 60 และมั่นใจข้อตกลงการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตเป็นไปได้ด้วยดี ทั้งนี้หวังว่าจะได้รับความร่วมมือ 100% จากผู้ผลิตในเดือนหน้า (โดย 11 สมาชิก OPEC จากทั้งหมด 13 กอปรกับกลุ่มผู้ผลิต Non-OPEC 11 ประเทศ) จับมือกันลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวม 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ภายในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ผู้ผลิตน้ำมันจัดตั้ง Technical Joint Committee (JTC) ขึ้นในการประชุมสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อทำหน้าที่เป็นคนประสานงานและรวบรวมข้อมูลปริมาณการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตเพื่อที่นำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบในวันที่ 17 ของทุกเดือน อย่างไรก็ตาม EIA เผยปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2559  เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9 และ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2560-2561 ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.5 - 58.5  เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ระหว่าง  50.0-55.0  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่  50.555.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

        ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจาก Bloomberg รายงานความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของอินเดีย ปี พ.ศ. 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.2% สู่ระดับ 560,000 บาร์เรลต่อวัน จากยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางอินเดียลดอัตราดอกเบี้ยลง อีกทั้ง Petrolimex ของเวียดนามมีแผนเปลี่ยน Specification ของน้ำมันเบนซิน 95 RON ขายปลีกที่สถานีบริการในบริเวณเมืองโฮจิมินห์ จาก Euro 3 มาเป็น Euro 4 ภายในสิ้นเดือน ม.ค. 60 อย่างไรก็ตามโรงกลั่น Jamnagar (660,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ อินเดียกลับมาดำเนินการตามปกติหลังจากเกิดไฟไหม้ที่เมื่อเดือน พ.ย. 59 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 18 ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.09 ล้านบาร์เรล สู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนอยู่ที่ 13.83 ล้านบาร์เรล  และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.83 ล้านบาร์เรล  มาอยู่ที่ 11.75 ล้านบาร์เรล  และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 13 ม.ค.60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6 ล้านบาร์เรล  อยู่ที่ 246.4 ล้านบาร์เรล  ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ  66.5-71.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

          

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

       ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลงจากปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดย IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 18 ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล  อยู่ที่ระดับ 11.95 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ  5  สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.15 ล้านบาร์เรล  มาอยู่ที่ 11.77 ล้านบาร์เรล  อย่างไรก็ตาม India Oil Corp. (IOC) ของอินเดียขยายระยะเวลาปิดซ่อมบำรุงหน่วย Hydrocracker ที่โรงกลั่น Haldia (150,000 บาร์เรลต่อวัน) โดยอาจใช้เวลามากกว่า 1 เดือน หลังจากปิดซ่อมบำรุงมาเป็นระยะเวลา 1 เดือนแล้ว ทั้งนี้ผู้ค้าในตลาดคาดว่า IOC จะยังคงนำเข้า น้ำมันดีเซลอนึ่งน้ำมันดีเซล ที่ IOC นำเข้ามีมาตรฐาน Euro 4 เพื่อรองรับการเปลี่ยนมาตรฐานจาก EURO 3 เป็น EURO 4 ในเดือน เม.ย. 60 นี้ ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 13  ม.ค.60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.0 ล้านบาร์เรล   อยู่ที่ 169.1 ล้านบาร์เรล  สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.5-66.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!