- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 16 January 2017 22:17
- Hits: 7033
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังตลาดกังวลกับข้อตกลงปรับลดการผลิตของกลุ่มโอเปกและเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเปราะบาง
(-) ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้กลุ่มโอเปกที่อาจไม่เป็นไปตามคาด เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกจะผลิตเกินโควต้าที่ได้รับ โดยในอดีตกลุ่มโอเปกสามารถทำตามข้อตกลงได้มากที่สุดที่ 80% ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเผยว่าถ้ากลุ่มโอเปกสามารถลดกำลังการผลิตได้ 50-60% ของข้อตกลง จะถือว่าเป็นระดับที่ยอมรับได้
(-) ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 750,000 บาร์เรลต่อวัน โดยปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนราว 50,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันดิบที่เชื่อมกับแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara และ El Feel เปิดดำเนินการอีกครั้งในเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา
(+) อย่างไรก็ตาม นายโมฮัมหมัด บาร์คินโด เลขาธิการกลุ่มโอเปก ยังเชื่อมั่นว่ากลุ่มโอเปกจะสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ตามที่ประกาศไว้ ประกอบกับ ซาอุดิอาระเบียและคูเวตออกมาเผยว่าได้ปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ให้คำมั่นไว้
(-) มูลค่าการส่งออกปี 2559 ของจีนปรับลดลงราว 7.7% ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และเป็นการปรับลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2552 เนื่องจากอุปสงค์โลกยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีความกังวลเกี่ยวนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีน
(+/-) จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบรายงานโดย Baker Hughes สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 13 ม.ค. ปรับลดลง 7 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 522 แท่นซึ่งเป็นการปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเป็นสัปดาห์ที่2 ในรอบ7 เดือนอย่างไรก็ดี ตลาดยังคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิต Shale oil ในสหรัฐฯ มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุน หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากราคา NYMEX RBOB ในสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับ อุปทานที่มีแนวโน้มปรับลดลงในภูมิภาคจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หลังเกิดเหตุไฟไหม้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินของเกาหลีใต้ที่ปรับลดลงราว 23.46% ในเดือนธ.ค. 2559 จากปีก่อนหน้า
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังถูกกดดันจากปริมาณการส่งออกของจีนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อจากอินโดนีเซียและอินเดีย ประกอบกับ อุปทานที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกมีความชัดเจนมากขึ้น หลังซาอุดิอาระเบียเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้นว่าลูกค้ากลุ่มใดที่โดนปรับลดปริมาณการส่งออกลง สำหรับในเอเชียจะถูกปรับลดโดยเฉลี่ยลงร้อยละ 5-10 นอกจากนี้ คูเวตและอิรักออกมาเปิดเผยว่าปริมาณการผลิตล่าสุดได้ปรับลดลงแล้ว โดยคูเวตได้ปรับลดปริมาณการผลิตลงมาอยู่ที่ระดับ 2.707 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก่อน ขณะที่อิรักปรับลดลงไปแล้วกว่า 170,000 บาร์เรลต่อวัน และภายในสัปดาห์นี้เตรียมที่จะปรับลดกำลังการผลิตอีก 40,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อให้ไปเป็นไปตามข้อตกลงที่จะปรับลดปริมาณการผลิตลง 210,000 บาร์เรลต่อวัน
จับตาสถานการณ์ในลิเบียหลังรัฐบาลเตรียมประกาศยุติการส่งมอบน้ำมันดิบจากท่าเรือทางด้านตะวันตกจากเหตุสุดวิสัย หลังพบมีการลักลอบน้ำมันดิบที่ท่าเรือ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้าลง โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ750,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ หลังราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะขึ้นมาอยู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ธ.ค. 2558