- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 10 January 2017 11:36
- Hits: 4317
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 9-13 ม.ค.60 และสรุปสถานการณ์ฯ 2-6 ม.ค. 60
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 – 13 ม.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง จากข่าวการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งจะเริ่มปรับลดในเดือนนี้ ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง จากการที่โรงกลั่นเพิ่มอัตราการกลั่นในช่วงที่มีความต้องการใช้น้ำมันสูง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ (Shale oil) ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหลักๆ มาจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Permian นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara และ El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นราว 440,000 บาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาการปรับลดปริมาณการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกซึ่งมีผลเป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 60 เป็นต้นไป โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบีย และ อิหร่านให้ความเชื่อมั่นว่าข้อตกลงจะบรรลุผล ในขณะที่คูเวตออกมายืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันของรัฐบาลจะปรับลดกำลังการผลิตในไตรมาสแรกของปี 60 ส่วนผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกอย่างโอมาน เผยว่าเตรียมจะลดกำลังการผลิตลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 ในเดือนมี.ค. 60 อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตามองการประชุมกลุ่มโอเปกในวันที่ 21 – 22 ม.ค. 60 ณ กรุงเวียนนา
ข้อตกลงลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มเป็นไปได้มากขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกคาดการณ์โดยสำนักข่าว Reuters ปรับลดลงมาอยู่ที่ 34.18 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนธ.ค. 59 จากระดับ 34.38 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ย. 59 ซึ่งไนจีเรียเป็นประเทศที่กำลังการผลิตปรับลดลงมากที่สุด เนื่องจากไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบ Forcados ได้ หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบถูกโจมตีในเดือนพ.ย. นอกจากนี้ซาอุดิอาระเบียก็ปรับลดกำลังการผลิตในเดือนธ.ค. เช่นกัน จากความต้องการที่ลดลงจากลูกค้า
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ รายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 59 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 479 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากโรงกลั่นเดินหน้าเพิ่มอัตราการกลั่นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนในช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 13.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งการปรับขึ้นหลักๆ มาจากน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล มีส่วนสร้างความกังวลให้กับตลาด
ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 59 รายงานโดย Baker Hughes ปรับตัวเพิ่มขึ้น 525 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 529 แท่น โดยหลุมขุดเจาะที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่มาจากแหล่งผลิตน้ำมัน Permian เนื่องจาก Permian เป็นแหล่งน้ำมันดิบที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังท่อขนส่งน้ำมันที่เชื่อมกับแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara กำลังการผลิต 350,000 บาร์เรลต่อวัน และ El Feel กำลังการผลิต 90,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ส่งผลให้ล่าสุดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับเกือบ 700,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนก่อนหน้า
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราการว่างงานยูโรโซน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ และ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 ม.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 53.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.35 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 57.17 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 54 เหรียญสหรัฐฯ หลังได้รับแรงกดดันจากแรงขายทำกำไรและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าสูงสุดในรอบ 14 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 30 ธ.ค.59 ปรับลดลง 7.1 ล้านบาร์เรลมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นสูงมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันทำความร้อนที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น และข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น ภายหลังจากคูเวต สมาชิกกลุ่ม OPEC แจ้งกลุ่มลูกค้าว่าจะปรับลดกำลังการผลิต 131,000 บาร์เรลต่อวัน และโอมาน ประเทศนอกกลุ่มโอเปกเปิดเผยว่าเตรียมที่จะลดกำลังการผลิต 45,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 60