- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 19 December 2016 19:16
- Hits: 4126
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 19-23 ธ.ค. 59 และสรุปสถานการณ์ฯ 12-16 ธ.ค. 59
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19 ธ.ค. – 23 ธ.ค. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงได้รับแรงหนุนจากข่าวการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น จากการที่โรงกลั่นเพิ่มกำลังการผลิตในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หลังผู้ผลิตเพิ่มการขุดเจาะขึ้นต่อเนื่องเมื่อราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะสามารถปรับลดกำลังการผลิตลงตามที่ได้ตกลงไว้หรือไม่ หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือน พ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 33.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการปรับเพิ่มขึ้นของไนจีเรีย ลิเบีย อย่างไรก็ตาม รัสเซียได้ทำการตกลงเบื้องต้นที่จะปรับลดกำลังการผลิตตามที่ได้มีการตกลงไว้แล้ว แต่รายละเอียดของการปรับลดของผู้ผลิตในแต่ละรายจะมีการพิจารณากันภายหลั
จากรายงานประจำเดือน ธ.ค. ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) มีการคาดการณ์ว่าหากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกสามารถลดกำลังการผลิตได้ตามที่ตกลงไว้ จะส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบเข้าสู่ภาวะขาดดุลโดยทันทีและส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกปรับลดลง แต่หากผู้ผลิตน้ำมันดิบไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้ จะส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำมันดิบล้นตลาดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 และส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบอีกครั้ง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงและเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนที่เพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ธ.ค. 59 ปรับลดลงต่อเนื่องกว่า 4 สัปดาห์ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 483.2 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุด ส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6 สัปดาห์ใน 7 สัปดาห์กว่า 8 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 66.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 7 เดือน
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% สู่ระดับ 0.50 – 0.75% นับเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่สอง และคาดการณ์ว่าในปีหน้าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึง 3 ครั้งจากเดิมที่จะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่เน้นการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก
จับตาสถานการณ์ในลิเบีย หลังกลุ่มผู้ประท้วงทางด้านตะวันตกยุติการประท้วงและเปิดดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบ หลังจากที่ได้มีการปิดท่อขนส่งดังกล่าวไปตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) มีแนวโน้มที่จะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตแหล่งน้ำมันดิบ Sharara และ El Feel ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศได้เร็วๆ นี้และส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นโดยรวมทั้งสิ้น 365,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันที่ 600,000 บาร์เรลต่อวัน
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นกว่าระดับ 50 เหรียญต่อบาร์เรล โดยปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ธ.ค. 59 รายงานโดย Baker Hughes ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 510 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ ม.ค. 59 โดยกว่า 2 ใน 3 ของการปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่แหล่งผลิต Permian ซึ่งเป็นแหล่งที่มีต้นทุนการผลิตในระดับต่ำ ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/59 สหรัฐฯ ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ รายจ่ายในการบริโภคและรายได้ส่วนบุคคลของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 ธ.ค. – 16 ธ.ค. 59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 51.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.88 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 55.21 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 52 เหรียญสหรัฐฯ หลังในวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกตัดสินใจลดกำลังการผลิตราว 0.558 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยรัสเซียปรับลดกำลังการผลิตมากที่สุดราว 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้เมื่อรวมกับที่ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกตกลงลดกำลังการผลิตลงราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้ว อุปทานน้ำมันดิบโลกอาจหายไปถึงร้อยละ 2 นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 9 ธ.ค. รายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดลงราว 2.6 ล้านบาร์เรล