- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 04 August 2014 21:47
- Hits: 3058
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 96-103 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 102-109 เหรียญฯ
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (4 – 8 ส.ค. 57)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวนอยู่ในกรอบเดิม โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานส่วนเกินบริเวณทะเลเหนือและแอฟริกา รวมไปถึงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิรักและรัสเซียที่ยังคงเป็นไปตามปกติ ท่ามกลางเหตุการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะไม่ปรับลดลงมากนัก เนื่องจากตลาดมีความกังวลต่อเสถียรภาพในการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบีย และการปิดซ่อมบำรุงหลุมน้ำมันดิบ Buzzard ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในทะเลเหนือ รวมถึงรายงานประจำเดือนของ OPEC ที่มีแนวโน้มจะออกมาในเชิงบวกต่ออุปสงค์น้ำมันโลก
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินบริเวณทะเลเหนือและแอฟริกา ขณะเดียวกันความต้องการใช้น้ำมันดิบเข้ากลั่นของโรงกลั่นในยุโรปและเอเชียลดลง
เหตุการณ์ความตึงเครียดในอิรักและรัสเซีย ที่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการส่งออกน้ำมันดิบของทั้งสองประเทศ โดยล่าสุดอิรักยังคงส่งออกน้ำมันดิบได้ตามแผนที่ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียแต่อย่างใด
เสถียรภาพในการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย หลังจากที่ท่าเรือขนส่งและหลุมน้ำมันดิบกลับมาดำเนินการ ทำให้กำลังการผลิตในเดือน ก.ค. ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 430,000 บาร์เรล จากราว 210,000 บาร์เรลในเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางความวิตกกังวลถึงความเป็นไปได้ที่กลุ่มกบฏจะกลับมาขัดขวางการผลิตน้ำมันดิบเช่นเคยอีก
การปิดซ่อมบำรุงหลุมน้ำมันดิบ Buzzard ที่ทะเลเหนือเป็นเวลาสองสัปดาห์ในเดือน ส.ค. โดยหลุมน้ำมันดังกล่าวเป็นหลุมน้ำมันดิบที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในทะเลเหนือ โดยคาดว่าการปิดซ่อมดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบลดลงประมาณ 24%
ติดตามรายงานประจำเดือนของ OPEC ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ ว่าจะมีมุมมองต่ออุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบโลกอย่างไร ภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจของผู้ใช้น้ำมันดิบหลักของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีนออกมาดีกว่าคาด ส่อเค้าว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีภาคการบริการ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานสหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน และยอดค้าปลีกยุโรป รวมไปถึงดุลการค้าจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ก.ค. – 1 ส.ค. 57)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 97.88 เหรียญฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.55 เหรียญฯ ปิดที่ 104.84 เหรียญฯ และราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ระดับ 104 เหรียญฯ
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินในทะเลเหนือและแอฟริกาตะวันออกในเดือน ก.ค. ประกอบกับการส่งออกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นในเดือน พ.ค. แตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี และกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกที่ปรับสูงขึ้นจากในเดือน ก.ค. รวมไปถึงการตัดสินใจปรับลดปริมาณการเข้าซื้อคืนพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าคาด และจีดีพีไตรมาส 2/57 สหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดที่เติบโต 4% จากถดถอยในไตรมาสก่อนหน้า สนับสนุนราคาน้ำมันดิบให้ปรับลดลงไม่มากนัก