- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 30 November 2016 19:29
- Hits: 4710
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 4 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการประชุมกลุ่มโอเปกคืนนี้
- ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดลดลงกว่าร้อยละ 4 หลังที่ประชุมกลุ่มโอเปกยังไม่สามารถสรุปวาระการลดกำลังการผลิตของประเทศสมาชิกได้ในวันจันทร์ที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากอิหร่านมีความจำนงให้ซาอุดิอาระเบียปรับลดกำลังการผลิตลงถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเกินกว่าที่ซาอุดิอาระเบียได้เสนอไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 2 เท่าตัว ในขณะที่อิหร่าน ลิเบีย และไนจีเรีย ได้รับการยกเว้นจากที่ประชุมให้คงกำลังการผลิตได้
- ขณะที่อิรักที่แสดงท่าทีให้ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตในช่วงก่อนหน้า ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตนมีความไม่เห็นด้วยที่จะต้องลดกำลังการผลิตลง เนื่องในความจำเป็นที่ต้องใช้เงินทุนจากการขายน้ำมันดิบเพื่อทำสงครามกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ISIS)
- นาย Suhail bin Mohammed al-Mazroui รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประจำประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ให้ความเห็นว่าตลาดน้ำมันดิบจะเข้าสู่สมดุลได้ตามธรรมชาติภายในระยะเวลา 6 เดือน แม้ว่าจะไม่มีการลดลงกำลังการผลิตลง แต่หากมีการปรับลดกำลังการผลิตจะช่วยให้การปรับสมดุลดังกล่าวเป็นไปได้เร็วขึ้น
+ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จากทาง Goldman Sachs มีความเห็นว่าราคาน้ำมันดิบมีโอกาสทรงตัวได้ที่ระดับ 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในครึ่งแรกของปี 2017 จากปัจจัยพื้นฐานที่ปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้โอเปกจะไม่ได้ลดกำลังการผลิตลงก็ตาม ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของ Morgan Stanley ที่มองว่าความล้มเหลวของการประชุมโอเปกจะทำให้ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสทรุดตัวลงต่ำกว่า 35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
+ หลังปิดตลาด สถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ หรือ API เปิดเผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงประมาณ 717,000 บาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 636,000 บาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศอินโดนีเซียยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันเบนซินทางฝั่งสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากประเทศจีนที่ยังส่งออกน้ำมันเบนซินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดีเซลในเอเชียและตะวันตกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสในการส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังตะวันตก อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในจีนเริ่มชะลอตัวโดยปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าราวร้อยละ 5.6
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมกลุ่มโอเปกในวันที่ 30 พ.ย. นี้ โดยตลาดคาดว่ากลุ่มโอเปกจะสามารถตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 32.5 – 33.0 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ภายหลังประเทศภายในกลุ่มโอเปกมีท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น ข้อเสนอปัจจุบันคือแต่ละประเทศ ยกเว้นลิเบียและไนจีเรีย จะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงราวร้อยละ 4.0 – 4.5 ในขณะที่ รัสเซียออกมากล่าวสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าวและคาดจะคงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับเดิม
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดในสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลายและส่งกดดันต่อราคาลดลง หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ กลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงและเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ย. 2559 ปรับตัวลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 158 แท่นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หลังราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวแตะระดับ 45 - 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 25 พ.ย. ปรับเพิ่ม 3 แท่นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ระดับ 474 แท่น