- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 21 November 2016 23:28
- Hits: 13063
ความร่วมมือภายในโอเปค ยั่งยืนหรือแค่ชั่วคราว?
ในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โอเปคจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ การหาข้อสรุปเรื่องการจำกัดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันล้นตลาด ทั้งนี้ หากประเทศสมาชิกโอเปคสามารถตัดสินใจร่วมกันได้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกน่าจะปรับตัวสูงขึ้นทันที (ในการประชุมครั้งที่แล้ว เพียงแค่โอเปคส่งสัญญาณว่าจะสามารถตกลงลดกำลังการผลิตกันได้ ก็มีผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นทันทีกว่า 10%) ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตดังกล่าวจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบและภาคธุรกิจของไทยอย่างไร วิจัยกรุงศรีได้ประเมินความเป็นไปได้และผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบและภาคธุรกิจของไทยเพื่อตอบประเด็นคำถามเหล่านี้
ในการประชุมกลุ่มโอเปคที่ประเทศแอลจีเรียเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชาติสมาชิกเห็นพ้องในหลักการที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันล้นตลาดที่เป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นโอเปค (ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตอยู่เกือบ 40% ของกำลังการผลิตโลก) ตกลงจะลดการผลิตจากมากกว่า 34 ล้านบาร์เรล เหลือราว 32.0-33.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งหากทำจริงจะเป็นการกลับมาใช้นโยบายการตั้งเป้าราคา (price targeting) โดยการควบคุมปริมาณการผลิตอีกครั้งในรอบ 8 ปี
แม้การกำหนดโควตาในการส่งออกน้ำมันดิบอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักของกลุ่มโอเปค เนื่องจากอาจทำให้สูญเสียส่วนแบ่งตลาด ซึ่งอาจหมายถึงรายรับของประเทศเหล่านี้จะน้อยลง และย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศสมาชิก แต่การลดกำลังการผลิตก็เป็นทางออกที่มีไม่มากนักของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหากต้องการขยับราคาน้ำมันขึ้นในภาวะที่น้ำมันล้นโลกเช่นปัจจุบัน นอกจากนั้น หากประเทศนอกกลุ่ม เช่น รัสเซีย บราซิล คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน เม็กซิโก และโอมาน ร่วมตัดสินใจในข้อตกลงจำกัดปริมาณผลิตน้ำมันครั้งนี้ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันสามารถขยับเร่งขึ้นต่อเนื่องได้จริง
วิจัยกรุงศรีประเมินว่า โอกาสที่ประเทศนอกกลุ่มโอเปคจะเข้าร่วมข้อตกลงนี้ดูจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากท่าทีที่ไม่แน่นอนของสมาชิกโอเปคและความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน อาจทำให้ชาติอื่นเกิดความลังเล ดังนั้น สถานการณ์ที่โอเปคจะลดกำลังการผลิตเพียงลำพังน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นในระยะสั้นๆ เพราะเมื่อระดับราคาน้ำมันขยับขึ้นจะมีผลกระตุ้นให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการลดการผลิตของโอเปค ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ที่มีแท่นขุดเจาะ Shale oil ก็จะกลับมาดำเนินการเพิ่มขึ้นภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ที่ค่อนข้างสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศ ภาวะการผลิตน้ำมันเช่นนี้ก็จะวนกลับมากดดันราคาน้ำมันอีกครั้ง
นอกจากนี้ การที่โอเปคสูญเสียส่วนแบ่งตลาดขณะที่ราคาน้ำมันไม่ขยับสูงอย่างที่หวัง จะยิ่งซ้ำเติมให้กลุ่มประเทศโอเปคมีรายรับจากธุรกิจน้ำมันลดลง อาจส่งผลให้สมาชิกโอเปคต้องผลิตน้ำมันเกินกว่าโควตาที่ตกลงกันไว้ ท้ายที่สุดแล้วกำลังการผลิตน้ำมันโลกโดยรวมอาจจะไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะมีผลให้ราคาน้ำมันดิบไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก โดยคาดว่า ราคาน้ำมันจะขยับขึ้นจากกรณีปกติที่ไม่มีข้อตกลงปรับลดการผลิตน้ำมันเล็กน้อยเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากคาดการณ์ที่ 47, 50 และ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 48, 51 และ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2560-2562 ตามลำดับ
สำหรับ ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบโลกที่ขยับขึ้นไม่มากนัก จะไม่เป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศขยับสูงขึ้นมาก ทำให้ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยจึงมีค่อนข้างจำกัด แต่สำหรับธุรกิจที่อ่อนไหวต่อราคาน้ำมัน อาจมี profit margins ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้นทุนขึ้นกับราคาน้ำมันมากและมีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันสูง อาทิ ภาคขนส่ง เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากยาง เหมือนแร่อโลหะ และประมง และบางรายที่มี margins บางอยู่แล้วอาจประสบผลขาดทุนจากต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้นได้
จากที่กล่าว วิจัยกรุงศรีคาดว่า การจุดพลุราคาน้ำมันรอบนี้น่าจะมีผลในระยะสั้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดน้ำมันโลกยังอ่อนแอ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการกลับมาเร่งผลิตน้ำมันของประเทศนอกกลุ่ม (รวม shale oil จากสหรัฐฯ ที่อาจได้แรงหนุนจากประธานาธิบดีคนใหม่) โดยประเด็นการกลับมาผลิตน้ำมันของประเทศนอกกลุ่มอาจเป็นปัจจัยลดประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายของกลุ่มโอเปค ซึ่งแม้โอเปคจะสามารถบรรลุข้อตกลงจำกัดโควตาการผลิตน้ำมัน แต่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโดยรวมอาจไม่มากนัก
รายงานโดย วิจัยกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา