- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 31 October 2016 22:05
- Hits: 6110
กกพ.คาดประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 140 MW ต้น พ.ย.,อาจเพิ่มพื้นที่
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"โดยคาดว่า กกพ.จะสามารถประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนจำนวนประมาณ 140 เมกะวัตต์ (MW) ได้ในช่วงต้นเดือน พ.ย.59 ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่คาดว่าจะเปิดรับซื้อในเดือน ต.ค.59 เนื่องจากรอข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงมหาดไทย
ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมจะรับซื้อเพิ่มเติมหรือไม่นั้นขึ้นกับนโยบายของภาครัฐบาลในระยะต่อไป หลังการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพียง 41.83 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 50 เมกะวัตต์
"กระทรวงมหาดไทยได้เพิ่มพื้นที่ที่มีขยะชุมชนเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งต้องมีการตรวจสอบ Feeder กับทางการไฟฟ้า ขณะนี้เรารอผลการตรวจสอบจากการไฟฟ้าก็น่าจะได้เร็ว ๆ นี้ และจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในต้นเดือนหน้า ตารางเวลาก็จะยืดไปเล็กน้อย"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่จะออกมาพร้อมกับประกาศรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ น่าจะเพิ่มเติมจากร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเดิมที่ได้ประกาศพื้นที่ที่มีศักยภาพรวม 8 พื้นที่ หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยได้ส่งพื้นที่ที่มีศักยภาพเข้ามาเพิ่มเติม แต่คงต้องรอการตรวจสอบจุดรับซื้อไฟฟ้าหรือจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า (Feeder) จาหน่วยงานการไฟฟ้าประกอบกันด้วย
อนึ่ง กกพ.ได้ออกร่างประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) มีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าที่กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 100 MW เบื้องต้นจะให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 17-21 ต.ค.59 และประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก วันที่ 17 พ.ย.59 โดยผู้ได้รับคัดเลือกจะต้องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค.62 พร้อมทั้งประกาศพื้นที่ที่มีศักยภาพทำโครงการ 8 พื้นที่ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา ,อบจ.นนทบุรี ,อบจ.ระยอง ,อบจ.หนองคาย ,เทศบาลเมืองบ้านพรุ จ.สงขลา ,เทศบาลเมืองกระบี่ จ.กระบี่ , เทศบาลแม่สอด จ.ตาก และกรุงเทพมหานคร
นายวีระพล กล่าวว่า หลังจากเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนแล้ว ก็จะพยายามดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ FiT Bidding ทั่วประเทศภายในปีนี้ ก่อนจะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ในระยะต่อไป
สำหรับ การประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ขายไฟฟ้าจากพลังงานขยะอุตสาหกรรมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สามารถคัดเลือกได้ทั้งสิ้น 7 โครงการ จากที่มีผู้เสนอขายมาทั้งหมด 26 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 41.83 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ส่วนจะมีการรับซื้อเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไป
"เป็นที่น่าเสียดายที่มีผู้ไม่ได้รับการคัดเลือกหลายราย เพราะติดปัญหาหลัก ๆ ทั้งในเรื่องที่ดินที่ไม่มีความชัดเจน ,ปัญหา Feeder และปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ชัดเจน บางโครงการมีผู้ลงนามเอกสารรับรองไม่ครบถ้วนทำให้ไม่ผ่านการคัดเลือก"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวอีกว่า โครงการที่จับสลากได้เป็นผู้ยื่นข้อเสนอในลำดับแรกนั้นก็ไม่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่อง Feeder ซึ่งทั้งหมดมีคณะอนุกรรมการเป็นผู้พิจารณา โดย กกพ.มีหน้าที่รับรองรายชื่อเท่านั้น ขณะที่คณะอนุกรรมการฯมาจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ กกพ.แต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งได้ตรวจสอบคุณสมบัติและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามระเบียบ ประกาศ และหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าตามที่ กกพ. ได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม หากโครงการใดมีข้อสงสัยก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์เรื่องเข้ามาได้ภายใน 1 เดือน
ทั้งนี้ ผู้ได้รับคัดเลือกจะต้องดำเนินการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน หรือภายในวันที่ 25 ก.พ. 60 และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในเดือนธ.ค.62
อินโฟเควสท์