- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 05 October 2016 21:14
- Hits: 5646
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหลังค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น ในขณะที่สต็อกน้ำมันดิบปรับลดลง
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบมีราคาสูงขึ้นในมุมมองของนักลงทุนที่ครอบครองเงินสกุลอื่นๆ ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบได้ในจำนวนที่ลดลง โดยในระหว่างวันราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. แต่จากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มากนัก
+ สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) เปิดเผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 7.6 ล้านบาร์เรล มาะแตะที่ระดับ 498.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลคงคลังที่ปรับตัวลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล ในขณะที่น้ำมันเบนซินคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 2.9 ล้านบาร์เรล
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (NIOC) เซ็นสัญญากับ Persia Oil & Gas เพื่อพัฒนาแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบจำนวน 4 แห่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตของอิหร่านเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.26 ล้านบาร์เรล/วัน
+ PIRA คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในช่วง 50-60 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมาสู่ระดับ 8.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ ปี 2014 ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานลดกำลังการผลิตลง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณความต้องการในประเทศอินโดนีเซีย และอียิปต์ อย่างไรก็ตามอุปทานในภูมิภาคเอเชียเหนือทั้งในประเทศจีนและไต้หวันปรับเพิ่มมากขึ้นหลังโรงกลั่นเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคเอเชียเหนือปรับสูงขึ้นหลังผู้ผลิตหลายรายเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซลได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณความต้องการในประเทศอินเดียหลังฤดูมรสุมกำลังจะสิ้นสุดลง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 45-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาท่าทีของกลุ่มโอเปกและการเจรจาของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกกับผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย ภายหลังที่สามารถบรรลุข้อตกลงในการคงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับ 32.5 - 33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวและสัดส่วนโควตาจะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมโอเปกครั้งถัดไปในวันที่ 30 พ.ย.
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงรวมทั้งสิ้นราว 23 ล้านบาร์เรลใน 4สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ระดับ 502.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบนำเข้าสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่อง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียและไนจีเรียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดลิเบียปรับเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 0.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากระดับการผลิตในเดือนก่อนหน้าที่ประมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังสามารถส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือ Ras Lanuf ได้ในช่วงที่ผ่านมา