- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 04 October 2016 21:56
- Hits: 6276
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังอิหร่านกระตุ้นให้หลายประเทศร่วมมือในการคงกำลังการผลิต
+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มสูงขึ้น หลังอิหร่านออกมากระตุ้นให้ประเทศนอกกลุ่มโอเปก (non-OPEC)ออกมาให้ความร่วมมือเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้มีบางประเทศในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกตัดสินใจลดกำลังการผลิตลงอยู่ในช่วง 32.5-33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอิหร่านให้ความเห็นว่า หากหลายประเทศร่วมมือกันจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามปริมาณกำลังการผลิตที่จะปรับลดลงของแต่ละประเทศนั้น จะมีการตัดสินใจอีกครั้งในระหว่างการประชุมกลุ่มโอเปกในเดือน พ.ย. นี้
+ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลง ส่งผลให้นักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นสามารถลงทุนในสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในสกุลเงินสหรัฐฯ ได้เพิ่มมากขึ้น
+ นอกจากนี้ ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.5 ซึ่งสูงกว่าเดือน ส.ค. ที่อยู่ระดับ 49.4 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 50.3ซึ่งตัวเลขที่สูงกว่าระดับ 50เป็นการบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
- อย่างไรก็ดี บริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (NIOC)เตรียมที่จะเซ็นสัญญาฉบับแรกเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซIran petroleum Contract (IpC) ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการเพิ่มกำลังการผลิตให้ไปสู่ระดับ 4ล้านบาร์เรลต่อวัน และเคยเป็นระดับที่ผลิตก่อนที่จะถูกมาตรการคว่ำบาตร
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดในเอเชียได้รับแรงกดดันจากการปรับลดลงของราคาขายน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ (RBOB)หลังสัญญาการซื้อขายครบกำหนด อย่างไรก็ดี อุปทานมีแนวโน้มปรับลดลงเนื่องจากโรงกลั่นในมาเลเซียอยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะปิดซ่อมบำรุงในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้ผู้ซื้อจากสิงคโปร์มีความสนใจที่จะเข้ามากักตุนสินค้าไว้ล่วงหน้า
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ภายในภูมิภาคยังคงทรงตัวในระดับดีจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวและฤดูกาลประมงในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ45-51เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-52เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาท่าทีของกลุ่มโอเปกและการเจรจาของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกกับผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย ภายหลังที่สามารถบรรลุข้อตกลงในการคงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับ 32.5 -33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวและสัดส่วนโควตาจะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมโอเปกครั้งถัดไปในวันที่ 30 พ.ย.
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงรวมทั้งสิ้นราว 23 ล้านบาร์เรลใน 4สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ระดับ 502.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบนำเข้าสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่อง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียและไนจีเรียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดลิเบียปรับเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 0.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากระดับการผลิตในเดือนก่อนหน้าที่ประมาณ 0.3ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังสามารถส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือ Ras Lanufได้ในช่วงที่ผ่านมา