- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 03 October 2016 23:42
- Hits: 5855
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากกลุ่มโอเปกบรรลุข้อตกลงที่จะลดกำลังผลิตลง
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสยังคงปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นมา 8 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกได้บรรลุข้อตกลงที่จะลดกำลังการผลิตลงในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยการตัดสินใจลดลงครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับลดกำลังการผลิตลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551 ที่ผ่านมา และจะมีกำลังการผลิตอยู่ในช่วง 32.5-33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามปริมาณกำลังการผลิตที่จะปรับลดลงของแต่ละประเทศนั้น จะมีการตัดสินใจในระหว่างการประชุมกลุ่มโอเปกอีกครั้งในเดือน พ.ย. นี้
- จากผลสำรวจของ Reuters เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. ของกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 33.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. ที่ระดับ 33.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากมีปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิรักเพิ่มมากขึ้น และลิเบียได้กลับมาเริ่มเปิดท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบหลักอีกครั้ง
- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 30 ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 425 แท่น ซึ่งไตรมาสที่ 3 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดมากกว่าไตรมาสใดๆ ตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามจำนวนแท่นขุดเจาะยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 614 แท่น เมื่อเดือน ก.พ. 58 สาเหตุจากราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และข้อตกลงของกลุ่มโอเปกที่จะมีแผนลดกำลังการผลิตลง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะมีการส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มมากขึ้น หลังจากตัวเลขการใช้น้ำมันเบนซินภายในประเทศปรับตัวลดลงในเดือน ก.ย. และจะอยู่ในระดับต่ำจนถึงเดือน พ.ย. นี้
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์จากจีนและอินเดียเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีอุปสงค์เพิ่มเติมหลังจากใกล้จะจบฤดูมรสุม
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 45-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่่น่าจับตามอง
จับตาท่าทีของกลุ่มโอเปกและการเจรจาของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกกับผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย ภายหลังที่สามารถบรรลุข้อตกลงในการคงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับ 32.5 - 33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวและสัดส่วนโควตาจะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมโอเปกครั้งถัดไปในวันที่ 30 พ.ย.
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงรวมทั้งสิ้นราว 23 ล้านบาร์เรลใน 4สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ระดับ 502.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบนำเข้าสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่อง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียและไนจีเรียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดลิเบียปรับเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 0.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากระดับการผลิตในเดือนก่อนหน้าที่ประมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังสามารถส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือ Ras Lanuf ได้ในช่วงที่ผ่านมา