WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ERCกกพ.สรุปยอดผู้ยื่นตั้งโรงไฟฟ้าขยะอุตฯวันแรกพุ่ง 26 ราย,GENCO-SUPER-CWT-BWG-WHA จับมือ GLOW มีลุ้นคว้างาน

    สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สรุปยอดผู้ขอยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในวันแรกทั้งหมด 26 ราย โดยเบื้องต้นบมจ.บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO), บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER), บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) ,บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) และบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ที่จับมือกับกลุ่ม บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) มีลุ้นได้งาน หลังจับสลากได้เป็นผู้ยื่นข้อเสนอลำดับต้นๆ ขณะที่กกพ.จะพิจารณาคัดเลือกโครงการตามลำดับการยื่นข้อเสนอ ซึ่งหากมีเอกสารและคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ก็จะสามารถได้รับการคัดเลือกทันที เพราะการเปิดรับยื่นข้อเสนอครั้งนี้ไม่ได้เป็นการแข่งขันด้านราคา

      ทั้งนี้ กกพ.เปิดให้ผู้ที่สนใจมายื่นข้อเสนอตั้งแต่เวลา 9.00 น. ซึ่งมีผู้มาลงทะเบียนก่อนเวลา 9.00 น.ทั้งสิ้น 25 ราย ตามข้อกำหนดดังกล่าวถือว่ามาพร้อมกัน จึงดำเนินการจับสลากลำดับก่อน-หลังเพื่อให้ได้ลำดับในการยื่นเอกสารข้อเสนอโครงการ โดยผลการจับสลากปรากฎว่าลำดับที่ 1 เป็นของบริษัท เจนโก้ รีนิวเอเบิ้ล จำกัด ในกลุ่ม GENCO ,ลำดับที่ 2 เป็นของบริษัท เอ็นเนอร์จี รีพลับบิค จำกัด ในกลุ่ม SUPER ,ลำดับที่ 3 เป็นของบริษัท ชัยวัฒนา กรีน พาวเวอร์ 1 จำกัด ในกลุ่ม CWT , ลำดับที่ 4 เป็นของบริษัท พีจี แอนด์ ซี 5714 จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรของบมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC)

     ลำดับที่ 5 บริษัท วี กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ,ลำดับที่ 6 บริษัท สิริลาภา พาวเวอร์ จำกัด ในกลุ่ม BWG ,ลำดับที่ 7 บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม WHA และ GLOW ,ลำดับที่ 8 บริษัท ศแบง ยั่งยืนพิจิตร จำกัด ,ลำดับที่ 9 บริษัท โปรเกรส อินเตอร์เคม (ประเทศไทย) จำกัด ,ลำดับที่ 10 บริษัท เอ็น 15 เทคโนโลยี จำกัด ,ลำดับที่ 11 บริษัท เจนโก้ พลังงานสะอาด จำกัด ในกลุ่ม GENCO เป็นต้น

     นายอิทธิฤทธิ์ วิภูศิริ รองกรรมการผู้จัดการ GENCO กล่าวว่า กลุ่มยื่นเสนอ 2 โครงการ โดยโครงการที่ได้ยื่นเอกสารลำดับที่ 1 คือ บริษัท เจนโก้ รีนิวเอเบิ้ล จำกัด กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ ปริมาณขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 3 จ.ชลบุรี และยื่นเอกสารลำดับที่ 11 ในนามบริษัท เจนโก้ พลังงานสะอาด จำกัด กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ปริมาณขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

      บริษัทคาดหวังว่าจะผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 โครงการ ใช้เงินลงทุนโครงการละประมาณ 1.2 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร โดยบริษัทจะถือหุ้นใหญ่ราว 60-70%

      ด้านตัวแทนจาก SUPER กล่าวว่า กลุ่มบริษัทยื่นข้อเสนอทั้งหมด 5 โครงการ ได้ลำดับยื่นเอกสารที่ 2,19,24 ,25 และ 26  โดยลำดับที่ 2 ยื่นในนามบริษัท เอ็นเนอร์จี รีพลับบิค จำกัด ขนาด 4.8 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร จ.พิจิตร คาดจะใช้เงินลงทุนราว 1.3-1.5 พันล้านบาท

     ส่วนอีก 4 โครงการที่เหลือ ขนาด 8 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ,ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา ,ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) จ.พระนครศรีอยุธยา และอีก 1 โครงการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

    นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ CWT กล่าวว่า บริษัทส่งบริษัท ชัยวัฒนา กรีน พาวเวอร์ 1 จำกัด ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า กำลังผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า จ.พระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2 พันล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างราว 1 ปีครึ่ง

      ด้านตัวแทนของ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) ในกลุ่ม WHA กล่าวว่า กลุ่มบริษัทได้ร่วมกับ GLOW ยื่นข้อเสนอทั้งหมด 3 โครงการ รวม 21.8 เมกะวัตต์ ได้แก่ บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช  จ.ชลบุรี  ปริมาณขาย 6.9 เมกะวัตต์  ยื่นเอกสารลำดับที่ 7 ,บริษัท โกลว์ เหมราชวินด์ จำกัด ปริมาณขาย 6.9 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี และบริษัท ระยอง คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ปริมาณขาย 8 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง สำหรับโครงการใหญ่สุดมีมูลค่าลงทุนราว 1.5 พันล้านบาท

    ขณะที่ตัวแทนของ SCC กล่าวว่า กลุ่มบริษัทยื่น 1 โครงการในนามบริษัท อนุรักษ์พลังงานซิเมนต์ไทย จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ได้ลำดับยื่นเอกสารลำดับที่ 18

    ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวว่าตัวแทนของพันธมิตรในกลุ่ม PSTC ได้ยื่นเสนอ 2 โครงการ ขนาดโครงการละ 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา  และตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี ได้ลำดับยื่นเอกสารอันดับ 20 ส่วน แหล่งข่าวจาก BWG เปิดเผยว่า บริษัทร่วมยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยจำนวนโครงการทั้งหมดที่ยื่น

    ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะมีผู้สนใจยื่นเอกสารเสนอขายไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวไม่เกิน 30 ราย โดยแต่ละรายจะต้องมีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งหากยื่นเต็มทั้งจำนวน ก็จะมีกำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ จากปริมาณที่รับซื้อที่มีกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 50 เมกะวัตต์เท่านั้น

    อนึ่ง สำนักงาน กกพ. ออกประกาศเรื่องขั้นตอนการรับคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าจากการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษ จากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 58-62 โดยจะเปิดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าระหว่างวันที่ 22-28 ก.ย.59 เวลา 9.00-15.30 น.และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกในวันที่ 28 ต.ค.59  และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าวันที่ 25 ก.พ.60 กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค.62

   อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!