- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 18 September 2016 16:05
- Hits: 3525
ก.พลังงาน สรุปผลงานรอบ 2 ปี ลดค่าครองชีพคนไทย ประหยัดค่าน้ำมัน 306,000 ล้านบาทต่อปี ค่าไฟฟ้าลด 92,103 ล้านบาท
ก.พลังงาน สรุปผลงานรอบ 2 ปี ลดค่าครองชีพคนไทย ประหยัดค่าน้ำมัน 306,000 ล้านบาทต่อปี ค่าไฟฟ้าลด 92,103 ล้านบาท ผลักดันการลงทุนด้านพลังงานสูงสุดในประวัติศาสตร์กว่า 1 ล้านล้านบาท สร้างงาน-อาชีพแก่วิศวกรยันเกษตรกร พร้อมเปิดมิติประชารัฐร่วมกับชุมชนเปลี่ยนพลังงานทดแทนเป็นรายได้เพิ่ม ยันวางรากฐานบูรณาการแผนพลังงานระยะยาว 5 ด้าน ไทยมีพลังงานอย่างมั่นคงพร้อมก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ คู่ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลงานในรอบ 2 ปีของกระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผลงานที่สำคัญๆ ได้แก่
1. การลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน กระทรวงพลังงานได้เร่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน โดยยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงาน ปลดภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นปัญหาค้างคามายาวนานกว่า 7,000 ล้านบาท โดยได้บริหารจัดการให้ราคาน้ำมันปรับลดลงทุกประเภท ส่งผลให้ประชาชนลดค่าน้ำมันได้ 306,000 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของค่าไฟฟ้า ได้ปรับราคาลดลงต่อเนื่องเช่นกันสูงถึง 52.68 สตางค์ต่อหน่วย ช่วยให้ประชาชนลดค่าไฟฟ้าลงได้ 92,103 ล้านบาท
2. เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยเพิ่มขึ้น โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ภาคพลังงานเกิดการลงทุนสูงสุดถึง 1 ล้านล้านบาท จากการพัฒนาโรงไฟฟ้าควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ การขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการลงทุนขยายท่าเรือรับส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LNG Receiving Terminal รวมทั้งการปลดล็อกกฎระเบียบ ใบอนุญาต การแก้ไขปัญหาผังเมือง ส่งผลให้เกิดการลงทุนพลังงานต่อเนื่อง โดยมีการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบสูงถึง 2,213 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 139,739 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมการลงทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้น ได้ช่วยให้เกิดการสร้างงานตั้งแต่ระดับวิศวกรไปจนถึงภาคการเกษตร เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศต่อเนื่อง
3. กระทรวงพลังงานได้เปิดมิติด้านประชารัฐ โดยส่งเสริมการลงทุนพลังงานทดแทนในระดับชุมชน เพื่อลดรายจ่ายและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร ซึ่งได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคการเกษตร ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการ อาทิ โครงการสนับสนุนระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก จนเกิดสินค้าประชารัฐที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการทำให้สินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น เยื่อไผ่ ลำไย มะม่วง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน การส่งเสริมนำมูลสัตว์ น้ำเสีย ขยะ มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน ก็ได้ช่วยให้ชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ สามารถลดรายจ่ายด้านพลังงานและมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
4. เกิดการวางรากฐานด้านพลังงานในระยะยาว จากการริเริ่มจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (พ.ศ.2558-2579) ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้เชี่อมโยงข้อมูลแผนทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ไฟฟ้า พลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน โดยภายใต้แผนฯ ดังกล่าวนอกจากจะตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการใช้พลังงานทดแทนทั้งจากไฟฟ้า ความร้อน และภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 30 % เกิดการลดใช้พลังงานลง 30% ในปี 2579 เกิดการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงอย่างสมดุลย์ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ในอนาคตจะเกิดโครงการสำคัญที่พาประเทศไทยไปสู่ เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) ซึ่งจะเกิดการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วย อาทิ โครงการไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โครงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และโครงการส่งเสริมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เป็นต้น
อนันตพร'ยัน NGV ไม่ขาดช่วงแหล่งสินภูฮ่อมปิดซ่อม
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์พลังงานครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดในภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน และศักยภาพการ ดำเนินงานสถานีผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ของบริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด จำกัด
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ มีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ 2 แหล่ง คือ แหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง และแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม โดย ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อมมีการผลิตก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4.1% ของอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของ ทั้งประเทศ ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อมจะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด โดยนำไปผลิตไฟฟ้าและผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)
ส่วนการปิดซ่อมบำรุงประจำปีของแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ระหว่างวันที่ 25-26 ก.ย. 2559 จะส่งผลกระทบต่อการ ผลิตก๊าซ NGV ประมาณ 450 ตัน/วัน ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ จะนำ เข้าก๊าซ NGV จากสระบุรี และภาคกลางเข้ามาทดแทนทั้งหมด โดยยืนยันว่าในช่วงเวลาที่มีการปิดซ่อมจะไม่ส่งผลกระทบ ต่อผู้ใช้ก๊าซ NGV ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ รมว.พลังงาน ยังได้ติดตามเรื่องการเตรียมความพร้อม กรณีการปิดซ่อมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17-26 ก.ย. 2559 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า กฟผ. ได้มีการเตรียมการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีผลกระทบ ต่อประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด
พลเอกอนันตพร กล่าวว่า กระทรวง พลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ตั้งแต่ปี 2550-2558 จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 9,481 ล้านบาท โดยจัดสรรไปพัฒนาประเทศในด้าน ต่างๆ ทั้งเป็นรายได้แผ่นดิน สัดส่วน 40% หรือประมาณ 3,792.4 ล้านบาท อีก 60% จัดสรรไปยังองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่มี การผลิต 2 แห่ง สัดส่วน 20% หรือประมาณ 1,896.2 ล้านบาท จัดสรรให้องค์การบริหาร ส่วนตำบล(อบต.) หรือเทศบาลในพื้นที่ที่มี การผลิต 11 แห่ง สัดส่วน 20% ประมาณ 1,896.2 ล้านบาท จัดสรรให้องค์การบริหาร ส่วนตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดที่มีการผลิต สัดส่วน 10% ประมาณ 948.1 ล้านบาท และที่เหลืออีก 10% หรือประมาณ 948.1 ล้านบาท จัดสรรกระจายไปยัง อบต. และเทศบาลอื่นๆ อีกทั่วประเทศ
สำหรับ การลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการติดตามภาพรวม การขับเคลื่อน 5 แผนบูรณาการพลังงานระยะยาวในพื้นที่ปฏิบัติจริง และติดตามสถานการณ์พลังงานในพื้นที่ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะ Net Zero Energy Building ซึ่งเป็นโครงการที่กองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ให้การสนับสนุน ทุนวิจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถ ใช้พลังงานสุทธิภายในอาคารเป็นศูนย์ เพื่อ เป็นอาคารต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงาน
ปตท.แจ้งแผนบริหารจัดการเอ็นจีวีช่วงแหล่งก๊าซสินภูฮ่อมปิดซ่อมบำรุง
นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี ได้เริ่มดำเนินการปิดซ่อมบำรุงเพื่อรักษาประสิทธิภาพการจ่ายก๊าซฯ แล้วตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ในช่วงวันที่ 17-26 กันยายน 2559 รวม 10 วัน โดยในช่วงวันที่ 25-26 กันยายน 2559 ผู้ผลิตจำเป็นต้องหยุดการผลิตทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อสถานีบริการเอ็นจีวีรวม 17 แห่งในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุดรธานี เลย และ มุกดาหาร ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการใช้ก๊าซเอ็นจีวีของจังหวัดดังกล่าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนอยู่ที่ 300 ตันต่อวัน
ปตท. ได้วางแผนจัดสรรก๊าซฯ จากพื้นที่ส่วนกลางจัดส่งไปยังสถานีบริการที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้รถเอ็นจีวี แต่เนื่องด้วยระยะทางการขนส่งก๊าซฯที่ไกลขึ้น ทำให้จัดส่งก๊าซเอ็นจีวีไปยังสถานีบริการได้ 135 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณการใช้ก๊าซทั้งหมดในปัจจุบัน ปตท. จึงใคร่ขอความร่วมมือผู้ใช้รถเอ็นจีวีและผู้เดินทางในเส้นทางดังกล่าว โปรดวางแผนการใช้เชื้อเพลิงล่วงหน้า เพื่อความสะดวกในการใช้รถตลอดช่วงการหยุดจ่ายก๊าซฯ และกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ที่มีเชื้อเพลิง 2 ระบบ (น้ำมันหรือก๊าซเอ็นจีวี) กรุณาหลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรถขนส่งโปรดเร่งจัดส่งสินค้าที่จำเป็นล่วงหน้าก่อนช่วงแหล่งก๊าซหยุดซ่อมฯ หรือใช้รถบรรทุกและรถหัวลากที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแทนการใช้ก๊าซเอ็นจีวี ทั้งนี้ คาดว่าการให้บริการก๊าซเอ็นจีวีจะกลับสู่สภาวะปกติในวันที่ 27 กันยายน 2559 เป็นต้นไป
“ปตท. ใคร่ขออภัยในความไม่สะดวก โดยจะบริหารจัดการพลังงานและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จและจ่ายก๊าซเข้าสู่ระบบได้ตามปกติ ผู้ใช้บริการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ PTT Contact Center โทร.1365” นายสมเกียรติ กล่าวเสริมในตอนท้าย