- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 18 September 2016 14:25
- Hits: 1798
รมว.พลังงาน คาดเลื่อนสรุปร่างกม.ปิโตรเลียม 2 ฉบับเป็นต.ค.ไม่กระทบกรอบเวลา
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ได้เตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 15 ก.ย. เพื่อขอขยายกรอบระยะเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ครั้งที่ 2 ออกไปอีก 30 วัน จากเดิมที่จะสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ ไปเป็นสิ้นเดือนต.ค.นั้น จะยังอยู่ในกรอบที่กำหนดว่าร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ จะต้องมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนต.ค.ตามที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้
แต่หากคณะกรรมาธิการฯจะยังขอขยายเวลาออกไปเป็นครั้งที่ 3 ทางภาครัฐคงจะต้องเจรจากับ สนช.ถึงเหตุและผล เนื่องจากการเลื่อนพิจารณาอีกจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นกับผู้สนใจร่วมประมูลและความมั่นคงพลังงานของประเทศได้
ทั้งนี้ ตามกำหนดสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 65-66 จะต้องมีความชัดเจนร่างประกวดเชิญชวนเพื่อเข้าร่วมประมูล (ทีโออาร์) การเปิดประมูลภายในเดือนธ.ค.นี้ และจะเปิดประมูลได้ภายในเดือนมี.ค.60
ด้านนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า บริษัทพร้อมเข้าร่วมประมูลเป็นผู้ดำเนินการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งบงกชที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ตามข้อกำหนดของกระทรวงพลังงาน โดยคาดว่าร่างทีโออาร์ จะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนก็จะไม่กระทบต่อการรักษาอัตราการผลิตภายหลังหมดสัมปทานในปี 65-66 ซึ่งบริษัทยังคงแผนผลิตเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานได้อยู่ แต่หากล่าช้าออกไปอีก ก็จะกระทบต่อการวางแผนลงทุนได้
อนึ่ง วันนี้รมว.พลังงาน เป็นประธานพิธีมอบรางวัลโครงการบริหารจัดการด้านชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมสำหรับสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมดีเด่น (SHE Award) ประจำปี 2559 เพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านอาชีว-อนามัยและสิ่งแวดล้อมในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมเชิงป้องกัน โดยการดำเนินโครงการใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ปี (ตั้งแต่เดือนต.ค.58 -ก.ย.59)
สำหรับ รางวัล SHE Award ประจำปี 2559 มีบริษัทแสดงความจำนงเข้าร่วมทั้งสิ้น 11 บริษัท โดยการพิจารณารางวัลครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับยอดเยี่ยม ระดับดีเด่น และระดับดี โดยที่ระดับยอดเยี่ยมจะต้องมีระดับคะแนน 90% ขึ้นไป ระดับดีเด่นจะต้องมีระดับคะแนน 80% ขึ้นไป และระดับดีจะต้องมีระดับคะแนน 70% ขึ้นไป
สำหรับ รายชื่อบริษัทผู้รับสัมปทานที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ 11 บริษัท แบ่งเป็น รางวัลระดับยอดเยี่ยม ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แหล่ง S1 , บริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด แหล่งบูรพา เอ , บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ แหล่งน้ำพอง, บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แหล่งสินภูฮ่อม ,บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด พื้นที่ผลิตบ่อรังเหนือ , บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แหล่งฟูนาน
บริษัท โอเฟียร์ ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด แหล่งบัวหลวง , บริษัท เอ็มพี จี11 (ประเทศไทย) จำกัด แหล่งนงเยาว์ และ PTTEP แหล่งบงกชใต้
รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ บริษัท แพนโอเรียนท์ เอ็นเนอร์ยี่ (สยาม) ลิมิเต็ด พื้นที่ผลิต L53A และรางวัลระดับดี ได้แก่ บริษัท ซิโน-ยู.เอส.ปิโตรเลียม อิงค์แหล่ง ผลิตบึงหญ้า1
อินโฟเควสท์
กระทรวงพลังงาน ยกระดับบริหารจัดการกองทุนอนุรักษ์พลังงานให้เป็น One-Stop Service
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบริหารจัดการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แบบบูรณาการและมุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ว่า กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) บูรณาการจัดการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้มีความทันสมัย โปร่งใส คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015)
ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มสมรรถนะของเจ้าหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมในด้านการบริหาร โดยใช้กลยุทธ์การจัดการองค์ความรู้ หรือ Knowledge Management (KM) ที่เน้นการบูรณาการให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน นอกจากนี้ หากสามารถดำเนินงานได้ตามมาตรฐาน จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงาน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างความตระหนักและจูงใจในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานของคนในชาติได้อีกทางหนึ่ง
ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดอบรมเชิงบูรณาการครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ให้มีความทันสมัย กระชับ ฉับไว และบริหารงานอย่างมืออาชีพ ตามที่ท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สนพ. ดำเนินการ ซึ่งสอดคล้องกับเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้เป็น One-Stop Service ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
พร้อมทั้งให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้มีโครงสร้างการบริหารทุนหมุนเวียนเป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งได้อนุมัติเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการบริหารงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. .... เพื่อให้ระเบียบสอดรับสัมพันธ์กับโครงสร้างใหม่นี้ โดยภายหลังจากนี้จะนำเสนอร่างระเบียบนี้ต่อกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณา และนำเสนอร่างระเบียบต่อประธานกรรมการกองทุนฯ ลงนาม และประกาศใช้ต่อไป
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานของหน่วยงานบริหารกองทุน ได้แบ่งการทำงานเป็น 3 กลุ่มงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ กลุ่มงานนโยบายและแผนกองทุนฯ ปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการจัดทำ และบริหารเงินกองทุนตามประมาณการรายจ่ายประจำปี หรือประมาณการรายจ่ายเพิ่มเติม กลุ่มงานวิเคราะห์โครงการ ปฎิบัติงานในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณกองทุนฯ จัดทำเกณฑ์ ค่าใช้จ่ายต่อหน่วย ในการพิจารณาความเหมาะสมของข้อเสนอการขอรับทุน และกลุ่มงานประเมินผลและรายงาน ปฎิบัติงานในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการประเมินผลกองทุนฯ ที่ทำหน้าที่พัฒนาระบบ รูปแบบ วิธีการ และเครื่องมือในการติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับการสนับสนุนไว้
"การบริหารจัดการกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ในปีนี้ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดี เปิดรับมิติใหม่ของการบริหารงานกองทุนฯ ที่จะเกิดอย่างเป็นรูปธรรมอันใกล้นี้ ปรับทัพจัดระเบียบโครงสร้างการบริหารกองทุนฯ ที่ชัดเจน ยกระดับของผู้ปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน มีประสิทธิภาพสูงสุด"นายทวารัฐ กล่าว