- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 28 July 2014 20:08
- Hits: 2749
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 21-25 ก.ค. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 28 ก.ค.- 1 ส.ค.57
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 107.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 102.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 105.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 3.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ปฏิบัติการกองทัพอิสราเอลส่งกำลังทหารบุกภาคพื้นดินเพิ่มเติมจากการยิงจรวดเพื่อหวังกวาดล้างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีชาวปาเลสไตน์จำต้องอพยพลี้ภัยออกจากฉนวนกาซาไปเกินกว่าแสนราย
· บริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Corp.) ของลิเบียเปิดเผยว่ายอดผลิตน้ำมันดิบช่วงปลายสัปดาห์ก่อนลดลงเกือบ 20% จาก 2 สัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 450,000 บาร์เรลต่อวัน หลังความรุนแรงภายในประเทศเริ่มปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel (กำลังการผลิต 130,000 บาร์เรลต่อวัน) ต้องหยุดดำเนินการเนื่องจากอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน
· สหภาพยุโรป (EU) เตรียมบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย รวมทั้งขัดขวางการปล่อยเงินกู้แก่รัสเซียเพื่อเป็นการตอบโต้ที่รัสเซียยังคงแทรกแซงในยูเครน ล่าสุด ต่างฝ่ายต่างมีการกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายได้ยิงปืนใหญ่ข้ามไปยังพรมแดนของตน ทำให้ความตึงเครียดยังคงคุกรุ่น
· Energy Aspect รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของจีนในเดือน มิ.ย. 57 ลดลง 5.6 ล้านบาร์เรลจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 239.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากจีนนำเข้าน้ำมันดิบลดลงประกอบกับอัตราการกลั่นภายในประเทศเพิ่มขึ้น
· Markit Economics รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้น (Flash Manufacturing Purchasing Managers Index) ของจีน เดือน ก.ค. 57 เพิ่มขึ้น 1.3 จุด MoM มาอยู่ที่ 52.0 จุด สูงสุดในรอบ 18 เดือน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Reuters รายงานว่าอิรักส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือทางใต้ ในช่วงวันที่ 1-23 ก.ค. 57 ปริมาณ 2.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าในเดือน มิ.ย. 57 ที่ 2.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Euroilstock รายงานว่าโรงกลั่นน้ำมันในยุโรปนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน มิ.ย. 57 ลดลง 1.17 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และลดลง 0.43 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 9.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังโรงกลั่นน้ำมันประสบปัญหาค่าการกลั่น (Refining Margin) ตกต่ำจนต้องลดอัตราการกลั่นลง
· รัสเซียเสนอขายส่งออกน้ำมันดิบให้กับลูกค้าในตลาดเอเชียจากท่อขนส่ง Eastern Siberian-Pacific Ocean (ESPO) เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านตัน เนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงกลั่นน้ำมัน Achinsk ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 57
· กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ในปี 57 ลงมาอยู่ที่ +1.7% เทียบกับปีก่อนหน้า จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ +2.0 % เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาส 1/57 จากสภาวะอากาศที่หนาวจัด
· ธนาคารกลางเยอรมนี (Bundesbank) ชี้ว่า GDP ไตรมาสที่ 2/57 อาจติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/57 ซึ่ง GDP อยู่ที่ +0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ตกต่ำ ประกอบกับที่ผ่านมาสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ โดยนักลงทุนต่างเฝ้าระวังเหตุการณ์ระหว่างยูเครน รัสเซียและความเคลื่อนไหวของพันธมิตรชาติตะวันตก ล่าสุด รัสเซียกล่าวหายูเครนว่ายูเครนได้ยิงปืนใหญ่เข้าไปยังพรมแดนของรัสเซีย ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลง มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากองทัพรัสเซียได้ยิงกระสุนปืนใหญ่ข้ามชายแดนมาโจมตีฐานที่มั่นของกองกำลังทหารรัฐบาลยูเครนอย่างต่อเนื่องพร้อมระบุรัสเซียยังตั้งใจจะส่งมอบเครื่องยิงจรวดที่มีอานุภาพรุนแรงมากขึ้นให้แก่กลุ่มกบฏยูเครนอีก เพิ่มความร้อนแรงด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปกว่า 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวันของรัสเซียมีความเป็นไปได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว ต่างจากสถานการณ์ในอิรักซึ่งมีความเปราะบางมากกว่าที่จะทำให้ยอดผลิตน้ำมันเกือบ 3 ล้านบาร์เรลต่อวันได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามการเมืองในประเทศ
แต่ในระยะยาว นักวิเคราะห์จาก PIRA ให้ความเห็นว่าซาอุดีอาระเบียยังคงมีความสามารถในการสร้างสมดุลตลาดน้ำมัน จึงปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี 58 มาอยู่ที่ 108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากการคาดการณ์ครั้งก่อน และ WTI ในปี 58 มาอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากการคาดการณ์ครั้งก่อน สำหรับในสัปดาห์นี้ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 106.8-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI แนวรับแนวต้านอยู่ที่ 101.7-104.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Dubai แนวรับแนวต้านอยู่ที่ 104.1-107.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงเนื่องจากปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ทั้งในสิงคโปร์ ญี่ปุ่นและจีนล้วนอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างอินโดนีเซียได้เก็บสำรองเบนซินเพียงพอสำหรับรองรับเทศกาลท่องเที่ยวหลังเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.ค. 57 ประกอบกับรัฐบาลลดการอุดหนุนราคาขายปลีกเบนซินและดีเซลลง สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 116.2-119.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงเนื่องจากอุปทานในเอเชียล้นตลาดขณะที่อุปสงค์ยังคงตกต่ำทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปซึ่งล่าสุดปริมาณสำรองดีเซลเชิงพาณิชย์บริเวณ Amsterdam-Antwerp-Rotterdam (ARA) สิ้นสุดสัปดาห์วันที่ 24 ก.ค. 57 เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีกว่า หลังจากปริมาณสำรองเพิ่มขึ้นเกือบทุกสัปดาห์ในช่วง 3 เดือนหลังมานี้ สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 116.7-119.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล