- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 15 September 2016 23:31
- Hits: 6213
ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ พุ่งขึ้น แม้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังลดลง
- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่ออีกร้อยละ 3 จากวันก่อนหน้า หลังปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 4.6 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า แม้ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับตัวลดลง นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันการเสนอขายน้ำมันดิบ Qua Iboe จากไนจีเรีย
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ก.ย. 2559 ปรับเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่ผลสำรวจจาก Reuters คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรล โดยปริมาณที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้นับเป็นการเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์ที่สูงสุดตั้งแต่เดือนม.ค. 59 นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.57 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.34 ล้านบาร์เรลเช่นกัน
+/- อย่างไรก็ดี EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 0.56 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจจากรอยเตอร์ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3.8 ล้านบาร์เรล โดยสาเหตุที่ปริมาณน้ำมันดิบที่ลดลงคาดว่าได้รับผลกระทบจากการสภาพอากาศที่เลวร้ายของพายุ Hermine ทำให้การขนส่งน้ำมันดิบที่ชายฝั่งของสหรัฐฯ ต้องชะลอตัวลง โดยสัปดาห์ก่อนหน้าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังได้ปรับลดลงถึง 14.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดีตลาดมองว่าหากพายุได้สงบลง ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจะปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
- ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการเสนอขายน้ำมันดิบ Qua Iboe จากไนจีเรีย หลังจากได้ หยุดการผลิตไปตั้งแต่เดือนก.ค. 59 เนื่องจากท่อส่งน้ำมันดิบเกิดการรั่วไหล อย่างไรก็ดีไนจีเรียยังไม่ได้ทำการเสนอขายน้ำมันดิบ Forcados และ Brass River
- นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากรายงานประจำเดือน ก.ย. ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) และรายงานประจำเดือนของโอเปก ที่คาดการณ์ว่าตลาดจะประสบภาวะอุปทานล้นตลาดถึงกลางปี 60 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าในครึ่งหลังของปีนี้ตลาดจะเริ่มเข้าสู่สมดุล เนื่องจากอุปสงค์มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปลายปีนี้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ของอินโดนีเซียที่มีแนวโน้มปรับลดลง ประกอบกับโรงกลั่นในญี่ปุ่นขนาดกำลังการผลิต 175,000 บาร์เรลต่อวัน จะกลับมาดำเนินการผลิตภายในเดือนสิ้นเดือนก.ย. นี้ หลังได้ปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินในวันที่ 8 ก.ย. ทีผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงสนันสนุนด้านอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากจีน เนื่องจากการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นและการใช้ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว นอกจากนี้อุปสงค์จากอินเดียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังฤดูมรสุมกำลังจะสิ้นสุดลง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
โอกาสความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกในการประชุมในวันที่ 26 –28 กันยายนมีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น หลังรัสเซียและซาอุดิอาระเบียได้บรรลุข้อตกลงในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี ซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า การคงกำลังการผลิตในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นเนื่องจากสภาวะตลาดจะเริ่มสมดุลมากขึ้นในอนาคต
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบและอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปล้นตลาดมีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อราคาต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขนส่งน้ำมันดิบกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้ามีแนวโน้มสูงขึ้น
ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเข้าใกล้ระดับต้นทุนการผลิตที่ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปริมาณแท่นขุดเจาะสำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ก.ย. จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 7 แท่นมาอยู่ที่ 414 แท่น