- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 12 September 2016 23:12
- Hits: 7588
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 12-16 ก.ย. 59 และสรุปสถานการณ์ฯ 5-9 ก.ย.59
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (12 - 16 ก.ย. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะได้รับแรงหนุนต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกทั้ง 2 รายได้แก่รัสเซียและซาอุดิอาระเบียสามารถบรรลุข้อตกลงในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวรวมถึงการหารือด้านสถานการณ์ราคาและมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ตลาดคาดว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่จะเห็นความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังการขนส่งน้ำมันดิบกลับมาเป็นปกติ และปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
โอกาสความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกในการประชุมในวันที่ 26 – 28 กันยายนที่ประเทศแอลจีเรีย เพื่อหารือสถานการณ์ตลาดและมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น หลังรัสเซียและซาอุดิอาระเบียได้บรรลุข้อตกลงในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน โดยรัสเซียและซาอุดิอาระเบียจะเริ่มมีการหารือข้อตกลงที่ชัดเจนในเดือน ต.ค. อย่างไรก็ดี ซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า การคงกำลังการผลิตในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นเนื่องจากสภาวะตลาดจะเริ่มสมดุลมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หลังลิเบียเริ่มกลับมาส่งออกน้ำมันดิบจากท่า Zueitina และ Ras Lanuf และไนจีเรียที่มีแนวโน้มส่งออกสูงมากขึ้น หลัง Shell ประกาศยกเลิก Force Majeure น้ำมันดิบชนิด Bonny Light หลังซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันชนิดดังกล่าวแล้ว
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดมีแนวโน้มส่งผลกดดันราคาอย่างต่อเนื่อง หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ เนื่องจากการขนส่งน้ำมันดิบกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้ามีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ภาวะน้ำมันสำเร็จรูปล้นตลาดคลี่คลายลง หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับลดลงมากมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด วันที่ 2 ก.ย. ที่ปรับลดลงมากกว่า 4.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 0.17 ล้านบาร์เรล หลังอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าลง หลังตลาดคาดในการประชุมเดือน ก.ย. เฟดมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนจากดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ (ISM Non-Manufacturing) ที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่งในเดือน ส.ค. จากปริมาณการผลิตและอุปสงค์ที่ตกต่ำลงอย่างมาก ประกอบกับ การจ้างงานนอกภาคเกษตร ในเดือนดังกล่าว อยู่ที่ระดับเพียง 151,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้และต่ำกว่า 2 เดือนก่อนหน้าที่มีการจ้างงานเฉลี่ยสูงถึง 250,000 ตำแหน่ง
ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง จากรายงานล่าสุดของ Baker Hughes พบว่าปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ก.ย. จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 7 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 414 แท่น เพิ่มขึ้นกว่า 84 แท่นจากต้นเดือน ก.ค.
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตสหรัฐฯ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ และยอดค้าปลีกสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 - 9 ก.ย. 59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 45.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.18 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 48.01 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐฯ หลังจากรัสเซียและซาอุดิอาระเบียประกาศพร้อมที่จะร่วมมือกันในการผลักดันราคาน้ำมัน ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกจะบรรลุข้อตกลงในการประชุมปลายเดือนนี้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ก.ย. ที่ปรับตัวลดลง 14.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 511.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 225,000 บาร์เรล และเป็นการปรับลดลงมากสุดใน 1 สัปดาห์นับตั้งแต่ปี 1999 อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากท่าทีของอิหร่านที่ยืนยันที่จะคงกำลังการผลิต ก็ต่อเมื่อกลุ่มโอเปกยินยอมให้ประเทศของตนเพิ่มกำลังการผลิตไปอยู่ที่ระดับเดียวกับกำลังการผลิตก่อนที่จะเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตร
---------------------------------------