- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 28 July 2014 18:55
- Hits: 2669
ปิยสวัสดิ์ วางเป้าหมาย PTT กำหนดแผนระยะยาวถึงปี 71 เน้นนวตกรรม-ลงทุนตปท.
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ปตท.(PTT)เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทได้หารือการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท.หลังจากที่บรรลุวิสัยทัศน์เดิมที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 50 แล้ว เนื่องในโอกาสที่ ปตท.จะครบรอบ 50 ปีในปี 71 จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ภายใต้กระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและต่อเนื่องทั้งในด้านสังคมการเมือง รวมถึงด้านเทคโนโลยีที่จะพลิกโลกเศรษฐกิจและธุรกิจ ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานมีรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นและมุ่งไปสู่พลังงานทางเลือกมากขึ้น ส่วนด้านการเติบโตของระบบเศรษฐกิจวงรอบ(Circular Economy)ก็เน้นใช้ทรัพยกรอย่างมีคุณค่า
ในปีหน้า ปตท.จะลงมือจัดทำแผนระยะยาวไปถึงปี 71 อย่างละเอียด โดยจะเน้นให้ ปตท.เป็นธุรกิจด้านนวัตกรรมใหม่และมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ซึ่งปัจจุบัน ปตท.ตั้งงบสำหรับงานวิจัยและพัฒนา(R&D)ปีละไม่ต่ำกว่า 3% ของกำไรสุทธิ ยกตัวอย่าง TOTAL จากฝรั่งเศสที่ไม่ได้มีทรัพยากรมาก แต่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้ TOTAL เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.จะต้องเน้นการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะปัจจุบันแหล่งปิโตรเลียมในประเทศลดน้อยลง ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมลดลงทุกปี โดยจะเห็นว่า บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เริ่มขยายการลงทุนเข้าไปในทวีปอเมริกาใต้ (บราซิล) และทวีปแอฟริกา (โมซัมบิก) เพื่อค้นหาแหล่งปิโตรเลียมที่ส่วนใหญ่อยู่ในแหล่งทะเลน้ำลึกมากขึ้น
"ในระยะยาว ปตท.ต้องเป็นองค์กรที่มีเทคโนโลยี และไม่ใช่พึ่งพาทรัพยากรในประเทศ เรื่องการพัฒนาคนและเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ปตท.ยังเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน โดยได้แยกบริษัทที่ดำเนินธุรกิจไฟฟ้า คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GPSC) และมองว่ารถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้ากำลังจะมา
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัทได้หารือนัดพิเศษเพื่อกำหนดทิศทางและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเพื่อใช้ประกอบการจัดทำแผนวิสาหกิจและงบประมาณประจำปี 58-62 ที่มีวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำที่มีเป้าหมายใน 3 ด้านคือ 1) BIG เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ โดยจะต้องสามารถรักษาอันดับ 1 ใน 100 ของบริษัทที่มียอดขายสูงสุดของโลกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Fortune 100
2) LONG เป็นบริษัทที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะต้องเป็นบริษัทที่รรลุเป้าหมายดัชนีด้านความยั่งยืนของกิจการของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI)
3)STRONG เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีและมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีผลประกอบการอยู่ในระดับชั้นนำของโลก (Top Quartile Performance) และในปี 57 กลุ่มปตท.ได้กำหนดกลยุทธ์จะให้มีการฝังราก TAGNOC(Technologically Advanced and Green National Oil Company) ให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร
*เดินหน้างานเร่งด่วนสร้างความเข้าใจสังคม แก้ต้นเหตุกำไรโตยาก
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ปตท.มีความสามารถทำกำไรต่ำลง โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ปตท.ทำกำไรสุทธิได้ในระดับ 90,000 - 100,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นกำไรที่ค่อนข้างนิ่ง อัตราการเติบโตต่ำ แม้ว่าจะมีการลงทุนมหาศาล โดยอัตรากำไร(Margin)ปรับลดลงมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 56 มาอยู่ที่ 2.7% จากเดิมอยู่ที่ 3% ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROIC) อยู่ที่ 9% ณ สิ้นปี 56 จากเดิมที่เป็นตัวเลข 2 หลัก และต่ำกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันเฉลี่ยที่ 16%
เนื่องจาก ปตท.ต้องแบกรับภาระการขาดทุนจากธุรกิจก๊าซ NGV และก๊าซ LPG รวมกันปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันการทำกำไรของบริษัท เนื่องจากต้องขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนที่ ปตท.ซื้อมาจากราคาในตลาดโลก เป็นผลจากนโยบายรัฐบาลที่อุดหนุนราคาก๊าซเอ็นจีวีและก๊าซแอลพีจีในประเทศ ส่งผลให้กำไรของ ปตท.ลดลง โดยมีกำไรเพียง 3%ของยอดขาย
"กระแสสังคมทำให้รัฐไม่กล้าตัดสินใจ ก็มีผลกระทบต่อ ปตท. ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด...แม้ว่า ปตท.จะเป็นรัฐวิสาหกิจ นโยบายราคาก็ไม่ควรเป็นอย่างนี้ ไม่มีการชดเชย ขณะที่การลงทุนของ ปตท.ก็ไม่ได้เอามาจากรัฐ"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ดังนั้น ปตท.จะรุกทำความเข้าใจกับสังคมและภาคประชาชนโดยเร็ว เบื้องต้นให้กรอบเวลาภายใน 1 ปี เพราะหากสังคมยังมีความเข้าใจผิดและมีการสร้างความขัดแย้ง รวมทั้งยังกระแสสร้างความเกลียดชัง ปตท.นโยบายรัฐก็จะบิดเบือนไปตามกระแสสังคม และไม่กล้าตัดสินใจ ซึ่งส่งผลเสียต่อกิจการของ ปตท.ในที่สุด
อินโฟเควสท์