- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 26 July 2014 21:10
- Hits: 3289
PTT ยืนยันคืนท่อส่งก๊าซเรียบร้อยแล้ว เตรียมแยกธุรกิจท่อส่งก๊าซเป็นบริษัทตามนโยบายภาครัฐ
นายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTTเปิดเผยว่า ตามที่มีความเข้าใจผิดว่า ปตท. ดำเนินการส่งคืนทรัพย์สินท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่กระทรวงการคลังตามคำสั่งศาลปกครองยังไม่ครบถ้วน และระบุว่าเป็นธุรกิจที่ถูกผูกขาดโดย ปตท. นั้น ปตท. ใคร่ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
ในประเด็นการคืนทรัพย์สินตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2550 นั้น ปตท. ขอยืนยันว่าภายหลัง จากแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้ว ปตท. ได้ดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินต่างๆ ให้แก่กระทรวงการคลัง ตามคำสั่งศาลปกครองครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2551 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้บันทึกในคำร้องสรุปว่า ปตท.ดำเนินการโอนทรัพย์สินทั้งหมดตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำสั่งยืนยันอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 จึงยืนยันได้ชัดเจนว่า ปตท. ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนั้น ในปี 2555 ได้มีกลุ่มบุคคลยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางว่า ปตท. ยังแบ่งแยกทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน แต่ศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่าศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษาถือเป็นการสิ้นสุดแล้ว นอกจากนี้ ตามที่กล่าวอ้างว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ระบุไว้ในรายงานการตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ว่า ปตท. ยังแบ่งแยกทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน แต่ข้อเท็จจริง คือ รายงานของ สตง. ได้ระบุไว้ด้วยว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินจะครบถ้วนตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งแล้วว่า ปตท. ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับ ประเด็น ปตท. ผูกขาดระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้น ใคร่ขอชี้แจงว่า ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นธุรกิจเสรีภายใต้ พรบ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 โดยผู้ที่ต้องการประกอบกิจการขนส่งก๊าซฯ สามารถยื่นขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบัน มีผู้รับใบอนุญาตนอกเหนือจาก ปตท. เช่น กลุ่มบริษัท Gulf กลุ่มบริษัทอมตะ เป็นต้น แต่เนื่องจากธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ ต้องใช้เงินลงทุนสูง มีขั้นตอนกระบวนการมากมาย และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีรายได้จากการประกอบกิจการ จึงทำให้ในปัจจุบัน มีผู้สนใจเข้ามาประกอบกิจการในธุรกิจท่อส่งก๊าซฯน้อยราย
“ปตท. ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ยินดีและพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนด รวมถึงนโยบายเรื่องการเปิดใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่บุคคลที่ 3 (TPA Regime) ของ กกพ. ดังนั้น ปตท. จึงได้เริ่มดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นมา เพื่อเตรียมการแยกสินทรัพย์และระบบบัญชีของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกมาให้ชัดเจนซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 และเตรียมการแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติรองรับการจัดตั้งเป็นบริษัทท่อส่งก๊าซฯ ในอนาคต" นายประเสริฐ กล่าวเสริมในตอนท้าย
อินโฟเควสท์
บอร์ดปตท.ยันโละหุ้นโรงกลั่นทันก่อนเลือกตั้ง
ไทยโพสต์ : วิภาวดีรังสิต - นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ปตท.ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าในการขายหุ้นของ ปตท.ที่ถืออยู่ในส่วนของโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง (เอสพีอาร์ซี) ที่ถืออยู่ 36% และที่ถืออยู่ในบริษัท บางจากปิโตรเลียม อีกจำนวน 27% รวมทั้งการแยกธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติออกจาก ปตท. ซึ่งการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะพยายามทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้งในประเทศขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อต้องการลดข้อครหากรณีผู้ขาดในธุรกิจน้ำมัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแม้ ปตท.จะขายหุ้นโรงกลั่นเอสพีอาร์ซี และโรงกลั่นบางจากก็ไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านการจัดหาน้ำมันของประเทศ เพราะยังมีการนำเข้าน้ำมัน โดยแผนดังกล่าวจะเสนอไปยังกระทรวงพลังงาน จากนั้นจะเสนอไปยัง คสช.ต่อไป
นอกจากนี้ บอร์ด ปตท.ยังรับทราบ ว่า นายสมชัย สัจจพงษ์ ได้แจ้งลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ปตท. เนื่องจากมีภารกิจอื่น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2557 เป็นต้นไป และบอร์ด ปตท.มีมติแต่งตั้งกรรมการทดแทนกรรมการที่ลาออก ประกอบด้วย นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ เป็นกรรมการ แทน นายสมชัย สัจจพงษ์ และนายดอน วสันตพฤกษ์ เป็นกรรมการอิสระ แทน นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.2557 เป็นต้นไป.