- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 27 August 2016 19:20
- Hits: 2204
กฟผ.เล็งเสนอก.พลังงานขอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีก 1.5-2 พัน MW ในช่วงปี 60-69
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จากการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของ กฟผ. ที่จะดำเนินงานในช่วงปี 2560-2569 โดยในด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน จะเสนอกระทรวงพลังงานขอเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีก 1,500-2,000 เมกะวัตต์ (MW) ทั้งชีวมวล ขยะ พลังงานลม และแสงอาทิตย์ จากปัจจุบันที่มีอยู่ในระบบของกฟผ.แล้ว ราว 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
“กฟผ. มีความเชื่อมั่นว่า พลังงานหมุนเวียนจะเป็นพลังงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) พ.ศ. 2558 – 2579 ที่จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 20 หรือเพิ่มขึ้น 19,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579"
นายสหรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ. มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงในระยะยาว และรักษาระดับราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ได้นำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเชิงพาณิชย์มาใช้ ทำให้สามารถควบคุมมลภาวะได้ในระดับสากล และดีกว่ามาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนดค่อนช้างมาก และจากเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าแบบ Ultra Super Critical ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในอดีต ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกราวร้อยละ 40 และประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ยังใช้ถ่านหินเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า
การมีโรงไฟฟ้าหลักที่สามารถที่สามารถสั่งการเดินเครื่องได้ตามความต้องการของระบบไฟฟ้า ยังช่วยให้สามารถรักษาปริมาณและคุณภาพของกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะในอนาคตที่เราจะมีพลังงานหมุนเวียนในระบบมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ที่ส่งเสริมและอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 190,000 เมกะวัตต์ มาจากพลังงานหมุนเวียน 100,000 เมกะวัตต์ (53%) แต่ยังต้องมีโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และฟอสซิล ในระบบรวมกันกว่า 90,000 เมกะวัตต์ (47%) ขณะที่มีความต้องการไฟฟ้ามีเพียง 87,000 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตสำรองถึง 103,000 เมกะวัตต์ แต่การผลิตพลังงานจริงในปี 2558 มาจากเชื้อเพลิงถ่านหินร้อยละ 42 และพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 30 แม้ว่า พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดสามารถจ่ายเข้าระบบไฟฟ้าได้ก่อนก็ตาม
โฆษก กฟผ. ยังได้กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตั้งเป้าผลิตกำลังไฟฟ้า 15 เมกะวัตต์ ภายในในปี 2560 ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ที่มีเป้าหมายลดการปล่อย CO2 ในการผลิตไฟฟ้าจาก 0.506 กิโลกรัมต่อหน่วยในปัจจุบัน เหลือ 0.385 กิโลกรัมต่อหน่วยในปี 2579 รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในปี 2573 ที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแสดงเจตจำนงไว้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21(COP21) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
อนึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการโครงการอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 หรือ Demand Side Management (DSM) ปี 2538-2558 รวม 20 ปี โดยความร่วมมือของประชาชน สามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าเทียบเท่าลดการสร้างโรงไฟฟ้า 4,050 เมกะวัตต์ ลดการปล่อย CO2 ได้ 14 ล้านตัน
อินโฟเควสท์