- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 27 August 2016 19:12
- Hits: 2140
กรมเชื้อเพลิงฯคาดเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ปลายปี 60,เร่งทำเกณฑ์รับมือประมูลแหล่งหมดอายุ
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดว่าการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จะดำเนินการได้ในราวปลายปี 60 หลังจากคาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมแล้วเสร็จในช่วงเดือน มี.ค.60 โดยจะเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมสำคัญ 2 แหล่ง คือเอราวัณและบงกช ในอ่าวไทยที่จะหมดอายุในปี 65-66 ก่อน และน่าจะคัดเลือกผู้เข้ามาดำเนินการได้ไม่เกินเดือนก.ย.60 จากนั้นก็จะดำเนินการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ต่อไป
ปัจจุบัน กรมฯอยู่ระหว่างการทำหลักเกณฑ์เพื่อเตรียมการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุทั้ง 2 แหล่ง ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การรื้อถอนแท่นผลิต,การคัดเลือกแปลงปิโตรเลียม และการคัดเลือกระบบในการประมูล ซึ่งคาดว่าหลักเกณฑ์จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้
"หลังจากการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุเสร็จแล้ว หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เสร็จ ก็จะง่ายแล้ว การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ซึ่งเป็นรอบที่ 21 ก็น่าจะทำได้ในปลายปีหน้า จะเป็นครั้งแรกหลังจากที่เราไม่ได้เปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่มาแล้วประมาณ 9 ปี...สำหรับแหล่งบ้านเราถ้าราคาน้ำมันที่ประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลก็ยังถือว่าน่าสนใจอยู่ เพราะเรามีจุดเด่นเรื่องของกฎหมายที่ไม่ต้องมีการมาเจรจา เพราะทุกอย่างอยู่ในกฎหมาย"นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ซึ่งล่าสุดคณะกรรมาธิการฯได้ขอยืดระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีก 30 วันจากที่เดิมสิ้นสุดในวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 65-66 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 7 แปลง โดยเป็นของแหล่งเอราวัณ 4 แปลง ที่มีกลุ่มเชฟรอนฯเป็นผู้ดำเนินการ และเป็นแหล่งบงกช อีก 3 แปลงที่มีกลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เป็นผู้ดำเนินการ
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำหลักเกณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ การรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม ซึ่งทั้งสองแหล่งดังกล่าวมีอยู่รวมกว่า 300 แท่นผลิต ซึ่งการสำรวจเบื้องต้นพบว่าจะต้องใช้วงเงินถึงราว 7 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อรื้อถอนแท่นผลิตทั้งหมด ซึ่งจะเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดถึงขอบข่ายความรับผิดชอบดังกล่าว โดยใช้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของแต่ละแท่นผลิตเป็นเกณฑ์อ้างอิง
ส่วนการคัดเลือกแปลงปิโตรเลียมที่จะนำมาเปิดประมูล กรมฯอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะจะเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้ง 7 แปลง หรืออาจจะมีการรวมบางแปลง ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาถึงผลดีและผลเสียต่อไป และการคัดเลือกระบบการผลิต ที่ตามร่างกฎหมายใหม่ จะมีทั้งระบบสัมปทาน ,ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือระบบจ้างผลิต ซึ่งทุกระบบจะให้สิทธิการสำรวจปิโตรเลียมเป็นระยะเวลา 9 ปี ระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม 20 ปี และสามารถต่ออายุการผลิตได้อีก 10 ปีเหมือนกันท้งหมด
นอกจากนี้ กรมฯยังอยู่ระหว่างการทบทวนแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558-2579 (Gas Plan 2015) ใหม่ โดยจะนำเรื่องของการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมถึงการเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาพิจารณาควบคู่กันด้วย ซึ่งคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้เจรจาให้ผู้ประกอบการในแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ชะลอการขอลดสัดส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองแหล่งออกไปก่อนจากเดิมที่ผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะขอลดสัดส่วนการผลิตจากปริมาณซื้อขายตามสัญญาได้ ในช่วงใกล้จะหมดอายุสัมปทาน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการได้มาเจรจากับบมจ.ปตท. (PTT) ในฐานะผู้ซื้อก๊าซฯ เพื่อขอลดสัดส่วนการผลิตลง และคาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป
"ขณะนี้เราใช้ก๊าซฯจากแหล่งผลิตในประเทศประมาณ 75% ของการใช้ก๊าซฯทั้งหมด หรือมีการผลิตประมาณ 3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือนำเข้าจากเมียนมา และนำเข้าในรูปของ LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) คิดว่าเราคงจะรักษาระดับการผลิตนี้ได้ถึงปีหน้า แม้ว่าทั้งสองแหล่งที่จะหมดอายุนั้นจะหมดพันธะของสัญญาทำให้สามารถต่อรองการลดระดับการผลิตลงได้ ซึ่งเราก็ยังต่อรองอยู่ถ้าจะให้เขาผลิตได้เท่าเดิม ราคาซื้อขายก็อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ช่วงนี้เรากำลังทบทวน Gas plan ก็ขอให้ชะลอออกไปก่อนเพื่อดูว่าความต้องการใช้จริงจะเป็นเท่าไหร่"นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเดิม คาดว่าหลังปี 65 ความต้องการใช้ก๊าซฯจาก 2 แหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุนั้นจะอยู่ที่ระดับ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากปัจจุบันที่ทั้ง 2 แหล่งมีการผลิตอยู่ที่ราว 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่จากการที่ทั้ง 2 แหล่งใกล้จะหมดอายุลง ซึ่งทำให้ในช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนหมดอายุปริมาณก๊าซฯจะลดลงเฉลี่ยปีละ 40% มาเหลือระดับราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในปี 65 และหากการเปิดประมูลเพื่อให้สิทธิผู้ประกอบการเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 2 แหล่งดังกล่าวดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งหากได้ผู้ประกอบการรายเดิมกลับเข้ามาดำเนินการ ก็จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีที่กว่าการผลิตจะกลับขึ้นมาได้ในระดับเดิม
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงปี 61-68 ปริมาณก๊าซฯจะหายไปจากระบบ 3.045 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งจะต้องมีการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 40 ล้านตันเพื่อทดแทนก๊าซฯที่หายไป รวมถึงต้องนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยคาดว่าจะต้องนำเข้า LPG ถึง 7 ล้านตัน และนำเข้าก๊าซอีเทน 4.8 ล้านตัน
แต่หากการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งนั้น ได้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ ก็อาจจะต้องใช้เวลาราว 5-6 ปีกว่าที่กำลังการผลิตจากทั้ง 2 แหล่งจะกลับเข้าสู่ระดับเดิม
อินโฟเควสท์