- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 27 August 2016 19:07
- Hits: 2156
กกพ. ทบทวน ร่างหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมีความเป็นธรรม
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงาน สัมมนาเรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นผลการศึกษาโครงการทบทวนโครงสร้างอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ" ว่า ปัจจุบันการกำกับอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติทั้ง 4 ประเภท โดย ใบอนุญาตขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติและใบอนุญาตค้าปลีกก๊าซธรรมชาติผ่านระบบจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ยังคงอ้างอิงตามคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ อัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2550 ที่จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และใบอนุญาตประเภทเก็บรักษา และแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ อ้างอิงตามหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราค่าบริการการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 แต่ปัจจุบันบริบทของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก อีกทั้งได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2558 ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน มีความชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม ตลอดจนสอดคล้องตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยมาตรา 65 กำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. กำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการของผู้ได้รับใบอนุญาต
"กกพ. ได้ทบทวนและจัดทำร่างหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติตามประเภทใบอนุญาต เพื่อให้ได้อัตราค่าบริการที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับหลักสากล รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายพลังงานของประเทศ ตลอดจน ส่งเสริมให้การประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ เป็นธรรมทั้งต่อผู้ประกอบกิจการ และผู้ใช้พลังงาน" นายพรเทพ กล่าวเสริม
การรับฟังความคิดเห็นผลการศึกษาโครงการทบทวนโครงสร้างอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติในวันนี้เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างสำนักงาน กกพ. กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ดำเนินการศึกษาทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติโดยแยกตามประเภทใบอนุญาต เพื่อให้ได้อัตราค่าบริการที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมในการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงาน อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้การประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมทั้งต่อผู้ประกอบกิจการ และผู้ใช้พลังงาน โดยงานสัมมนาในวันนี้มีตัวแทนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ อาทิ สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ตัวแทนจากสถาบันการศึกษา ตัวแทนจากผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งจากภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนตัวแทนผู้ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ กว่า 150 คน เข้าร่วมให้ความคิดเห็นในงานสัมมนาดังกล่าว