- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 02 August 2016 08:46
- Hits: 2240
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 1-5 ส.ค.59 และสรุปสถานการณ์ฯ 25 -29 ส.ค.59
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 - 29 ก.ค. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะถูกกดดันจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นที่ยังไม่คลี่คลาย สะท้อนได้จากปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินคงคลังที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ตลาดอาจถูกกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญออกมาดีเกินความคาดหมาย อย่างไรก็ตาม ราคาอาจไม่ได้ปรับลดลงไปมากนักเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการผลิตและส่งออกน้ำมันจากลิเบียที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายในระยะสั้น เนื่องจากลิเบียอาจชะลอการเปิดดำเนินการท่าส่งออกน้ำดิบสำคัญของประเทศ ได้แก่ Es-Sider และ Ras Lanuf ออกไปก่อน หลังจากเกิดปัญหาเกี่ยวกับค่าตอบแทนของหน่วยรักษาความปลอดภัย รวมถึงการคัดค้านการรวมตัวกันของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังไม่คลี่คลาย หลังจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ลดลง ประกอบกับปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 22 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. สู่ระดับ 521.1 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 65.2 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 0.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 241.5 ล้านบาร์เรล แตะระดับที่สูงสุดของเดือน ก.ค. โดยการปรับขึ้นดังกล่าวยังคงสร้างความประหลาดใจต่อตลาด เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ จะปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดของปีในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลขับขี่ในสหรัฐฯ
ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับอุปทานจากสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวได้ดีก่อนหน้านี้ โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ณ วันที่ 22 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 14 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน สู่ระดับ 371 แท่น นอกจากนี้ ผู้ผลิตน้ำมันดิบจากหินชั้นดินดานในสหรัฐฯ บางส่วนได้เริ่มดำเนินการผลิตน้ำมันจากหลุมน้ำมันที่ขุดไว้แล้วแต่ยังไม่ได้การผลิต (Drilled but Uncompleted Wells หรือ DUCs) ซึ่งอาจชะลอการฟื้นตัวของตลาดน้ำมันดิบโลก
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และกดดันราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ ถึงแม้ว่าล่าสุด Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.25 – 0.50% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. ตามความคาดหมาย แต่ Fed แสดงความมั่นใจว่าความเสี่ยงระยะสั้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอเมริกาปรับลดลงแล้ว และได้เปิดทางสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากการที่สหราชอาณาจักรลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีเกินคาดหมาย ทั้งนี้ Fed จะมีกำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) เหลืออีก 3 ครั้งในปีนี้ ในเดือน ก.ย. พ.ย. และ ธ.ค. ซึ่งตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน พ.ย. เนื่องจากการประชุมดังกล่าวมีขึ้นก่อนหน้าศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพียง 1 สัปดาห์ และมองว่า Fed อาจจะมีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งภายในปีนี้
ลิเบียอาจชะลอการเปิดดำเนินการท่าส่งออกน้ำดิบสำคัญของประเทศ ได้แก่ Es-Sider และ Ras Lanuf ออกไปก่อน หลังจากเกิดปัญหาเกี่ยวกับค่าตอบแทนของหน่วยรักษาความปลอดภัย รวมถึงการคัดค้านการรวมตัวกันของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้ ลิเบียเคยแสดงความพร้อมที่จะฟื้นฟูกำลังการผลิตน้ำมันดิบสู่ระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ หากท่าส่งออกที่ใหญ่ที่สุดดังกล่าวกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิต (NBS, Caixin PMI) ของจีน ดัชนีการผลิต (Markit PMI) ของยูโรโซน และยอดค้าปลีก ดัชนีการผลิต (ISM PMI) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก รายได้นอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 - 15 ก.ค. 59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 41.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.23 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 42.46 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 39 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากราคาน้ำมันดิบเริ่มฟื้นตัวใกล้ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ รวมถึงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค. จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อิรักกลับมามีการส่งออกอยู่ในอันดับสองของกลุ่มโอเปก