- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 31 July 2016 23:38
- Hits: 5353
ราคาน้ำมันดิบปรับลดต่อเนื่อง หลังนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 59เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด หลังตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น
- ความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันเบนซินที่สูงขึ้น ยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันต้องปรับลดกำลังการผลิตเพื่อให้อุปทานน้ำมันเบนซินเข้าสู่ภาวะสมดุลกับอุปสงค์ เป็นเหตุให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบลดลงตามไปด้วย
- นอกจากนี้ บริษัท Genscape รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ค. ณ จุดส่งมอบน้ำมันคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 328,000 บาร์เรล
- จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14,000 ราย ไปอยู่ที่ระดับ 266,000 ราย ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขึ้นไปสู่ระดับ 260,000 ราย ส่งผลกดดันตลาดหุ้น ให้หุ้นดาวโจนส์ปิดที่ 18,456.35 จุด ลดลง 15.82 จุด
- บริษัท รอยัล ดัทช์ เชลล์ รายงานผลกำไรของบริษัทในไตรมาส 2 พบว่าปรับลดลง 72% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำลง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานว่าปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดเอเชียยังถูกกดดัน หลังประเทศอินเดียส่งออกน้ำมันเบนซินต่อเนื่องสำหรับเดือน ส.ค.
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ล้นตลาด ในขณะที่อุปสงค์ภายในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างเบาบาง นอกจากนี้ โอกาสในการส่งออกน้ำมันดีเซลจากเอเชียไปยังทวีปอเมริกาและยุโรปเป็นไปได้ยาก เนื่องจากส่วนต่างราคาไม่คุ้มในการส่งออก
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 42-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังไม่คลี่คลาย หลังจากล่าสุดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ลดลง ประกอบกับปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น
ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับอุปทานจากสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวได้ดีก่อนหน้านี้
ลิเบียอาจชะลอการเปิดดำเนินการท่าส่งออกน้ำดิบสำคัญของประเทศ ได้แก่ Es-Sider และ Ras Lanuf ออกไปก่อน หลังจากเกิดปัญหาเกี่ยวกับค่าตอบแทนของหน่วยรักษาความปลอดภัย รวมถึงการคัดค้านการรวมตัวกันของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้ ลิเบียเคยแสดงความพร้อมที่จะฟื้นฟูกำลังการผลิตน้ำมันดิบสู่ระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ หากท่าส่งออกที่ใหญ่ที่สุดดังกล่าวกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ