- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 23 July 2016 09:04
- Hits: 1779
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 11-15 ก.ค. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 18-22 ก.ค. 59
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ราคาน้ำมันดิบรายสัปดาห์ปรับตัวลดลงทุกชนิด น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6 Rig (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3) มาอยู่ที่ 357 Rig
· Platts Survey รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC เดือน มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 300,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 32.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตของซาอุดีอาระเบียผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน อิหร่านผลิตที่ 3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 8,000 บาร์เรลต่อวัน และไนจีเรีย (ที่แหล่ง Qua Iboe) ผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 150,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· International Energy agency (IEA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว OECD เดือน พ.ค. 59 เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 13.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับสูงสุดใหม่ที่ 3.074 พันล้านบาร์เรล
· สมาชิกสหภาพแรงงาน Petroleum and Natural Gas Senior Staff Association of Nigeria (PENGASSAN) ของไนจีเรีย กว่า 10,000 ราย ยุติการผละงานประท้วงเรียกร้องเพิ่มค่าจ้างชั่วคราว เพราะการเจรจาระหว่างสหภาพ และรัฐบาลบรรลุข้อตกลงได้ในบางประเด็น อีกทั้งไม่ต้องการให้การผลิตน้ำมันดิบรวมทั้งการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศหยุดชะงัก
· ปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปที่อยู่ในระดับสูงทั่วโลกส่งผลให้โรงกลั่นในเอเชียเริ่มพิจารณาลดการกลั่นไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นของบริษัท SK Energy, GS Caltex และ Hyundai Oilbank ของเกาหลีใต้ และ Formosa Petrochemical Corp. ของไต้หวัน ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องมาถึงความต้องการน้ำมันดิบในที่สุด
· CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขาย NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ค. 59 ผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8,306 สัญญา มาอยู่ที่ 180,564 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ท่อขนส่งก๊าซในรัฐ Ogun ทางด้านทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไนจีเรียถูกโจมตีส่งผลให้เกิดอุปทานชะงักงันในเมืองหลวง Lagos อนึ่งกลุ่มผู้ก่อการร้าย Niger Delta Avengers มักมีขอบเขตการโจมตีใน Niger Delta Region หรือทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเท่านั้น
· Energy Information Administration หรือ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 519.5 ล้านบาร์เรล
· Reuters รายงานการผลิตน้ำมันดิบของแท่นผลิตน้ำมันในทะเลเหนือ 7 แห่ง ของบริษัท Shell อาจได้รับผลกระทบในวันที่ 26 ก.ค. นี้ จากการประท้วงของพนักงานบริษัท Wood Group ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านการซ่อมบำรุงแท่นผลิตเพราะถูกลดค่าจ้างและสวัสดิการ ทั้งนี้สมาพันธ์ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ของอังกฤษ ( Oil and Gas UK) ระบุว่าภาวะราคาน้ำมันตกต่ำกดดันให้บริษัทน้ำมันและผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้อง ต้องลดการจ้างงานในอังกฤษกว่า 120,000 ตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้
· บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย Haynes & Boone LLP. รายงานบริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ล้มละลายในเดือน มิ.ย. 59 มีจำนวน 4 บริษัท ลดลงจากเดือน พ.ค. 59 ที่ 12 บริษัท ขณะที่วงเงินล้มละลายเดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือน พ.ค. 59 ถึง 2.31 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เพิ่มขึ้นหลัง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 9 อย่างไรก็ตาม ยังยืนระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับช่วงเวลาเดียวกันนี้ของทุกปี ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินยังคงเพิ่มขึ้น แม้เดือน ก.ค. 59 จะเป็นช่วงที่การใช้รถใช้ถนนสัญจรในสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม ส่งผลให้ราคา NYMEX RBOB Gasoline ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อเนื่องถึงราคาน้ำมันดิบโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ดังเห็นได้จากส่วนต่างระหว่างน้ำมันดิบ NYMEX WTI (ตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ) และ ICE Brent (ตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ลอนดอน อังกฤษ) ล่าสุดกว้างขึ้นจนใกล้ระดับ -1.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน ขณะเดียวกัน EIA รายงานปริมาณสำรองปิโตรเลียมรวมทุกชนิดทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงยุทธศาสตร์ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 2,100 ล้านบาร์เรล
สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ด้านปัจจัยพื้นฐานโดยรวมยังเป็นเชิงลบ ด้านนักวิเคราะห์หลายรายมองว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อีกครั้งจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจสืบเนื่องจากประเด็น Brexit ประกอบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจจีน อีกทั้งการคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบจากแคนาดา ไนจีเรีย และลิเบียจะกลับมาสู่ตลาดตามปกติ ทั้งนี้ BNP Paribas ชี้ว่าราคาน้ำมันดิบอาจลดลงสู่ระดับเดียวกันกับเดือน ม.ค.-ก.พ. 59 ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนกลับมาซื้อเก็งกำไรอย่างมีนัยสำคัญ อันผลักดันให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเด่นชัดภายในช่วง 2-3 ปี แต่นักวิเคราะห์อีกหลายรายกลับมีทัศนะตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันหลักด้านปิโตรเลียมหรือผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ซึ่งชี้ว่าอุปสงค์อุปทานน้ำมันดิบจะเริ่มปรับฐานเข้าสู่ดุลยภาพตั้งแต่ครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นไปและจะสมดุลภายในปี พ.ศ. 2560 ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวในกรอบ 45.0-50.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ,ราคาน้ำมันดิบ WTI เคลื่อนไหวในกรอบ 43.5-48.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ราคาน้ำมันดิบ Dubai เคลื่อนไหวในกรอบ 41-46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก Platts รายงานเหตุฝนตกหนักบริเวณตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมส่งผลให้การใช้น้ำมันเบนซินลดลง โดยยอดขายปลีกน้ำมันเบนซินในมณฑลกวางตุ้งลดลง 10-15% และโรงกลั่นอิสระ (Independent Refinery) ในจีนเริ่มดำเนินการส่งออกน้ำมันเบนซิน อาทิ บริษัท Hongrun Petrochemical และ Chambroad Petrochemical มีแผนส่งออกปริมาณรวม 470,000 บาร์เรล ตั้งแต่ปลาย มิ.ย. 59 ประกอบกับ Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันเบนซิน จากเอเชียเหนือสู่สหรัฐฯ เปิด และ Reuters รายงานบริษัทกลั่นน้ำมันหลายแห่งในเอเชียต่างลดอัตราการกลั่นลงในเดือน ก.ค. 59 เนื่องจากผลตอบแทนจากการกลั่นอยู่ในระดับต่ำ อาทิ SK Energy ของเกาหลีใต้ Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ของไต้หวัน ส่วน Singapore Refining Company หรือ SPC (กำลังการกลั่น 290,000 บาร์เรลต่อวัน) บริษัทร่วมทุนระหว่าง PetroChina และ Chevron ซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์ มีแผนลดอัตราการกลั่นจากประมาณ 90% ในเดือน พ.ค. 59 ลงเหลือ 80% ในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. 59 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.33% มาอยู่ที่ระดับ 10.90 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 13 ก.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 900,000 บาร์เรล อยู่ที่ 13.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลลดลงจากกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน ม.ค.-พ.ค. 59 อยู่ที่ 41.17 ล้านบาร์เรล มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 4 เท่า ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลในภูมิภาค IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 13 ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 63,000 บาร์เรล อยู่ที่ 11.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Petrolimex บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวียดนาม และ Egyptian General Petroleum Corp. (EGPC) ของอียิปต์ ออกประมูลซื้อ น้ำมันดีเซลปริมาณรวม 750,000 บาร์เรล ส่งมอบ ส.ค. 59 และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 130,000 บาร์เรล หรือ 1.36 % มาอยู่ที่ระดับ 9.57 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ บริษัท Perusahann Listic Negara (PLN) บริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งชาติของอินโดนีเซียชี้แจงว่าไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งกำหนดให้ใช้ Biodiesel ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันชีวภาพ (ในกรณีนี้ใช้น้ำมันปาล์ม) ขั้นต่ำ 30% เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะจะทำให้เครื่องผลิตไฟฟ้าเสียหาย ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล